#45ปี6ตุลา : ‘ทนายด่าง’ เปลือยกระบวนการยุติธรรมอันอยุติธรรม ย้ำจำเป็นต้องเอาคนผิดมาลงโทษ

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจของโครงการกฎหมายเพื่ออินเตอร์เน็ตประชาชนหรือไอลอว์ ได้ถอดความปาฐกถาในงานครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ของกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทีมผู้จัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา โดยได้กล่าวปาฐกถา ว่า “ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมในงานนี้ เราคงผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามาด้วยความยากลำบากและวันนี้ก็เป็นการจัดงานรำลึก 6 ตุลาที่ยากลำบากอีกปีหนึ่ง… 6 ตุลา 19 ในวันที่เกิดขึ้นก็เป็นวันที่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาไม่ได้รับความยุติธรรมในระบบยุติธรรมในประเทศนี้อยู่แล้ว ถนอม ประภาส ณรงค์ ซึ่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ คณะกรรมการของรัฐบาลอาจารย์สัญญา มีมติว่า กระทำความผิดถึงขนาดยึดทรัพย์สิน ถูกให้ออกจากราชการ เมื่อกลับมาประเทศไทย ไม่มีรัฐบาลใดนำตัวมาลงโทษ อันนี้เป็นความอยุติธรรมครั้งที่หนึ่ง จนบัดนี้วิญญาณของวีรชน 14 ตุลา ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม จับสามทรราชให้มาถูกลงโทษ สังเกตดูว่า สามทรราชไม่ได้พูดถึงสามคนในปัจจุบันแต่เป็นสามทรราชในขณะนั้น”

“ชุมพร ทุมไมยและวิชัย เกษศรีพงศ์ษา สหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียกร้องร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นเอาตัวถนอมที่หลบหนีและกลับมาในประเทศมาลงโทษ ถูกนำไปแขวนคอที่โรงงานร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จนบัดนี้ฆาตรกรที่จับคนทั้งสองไปแขวนคอยังไม่ถูกลงโทษ นี่คือความอยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมครั้งที่สอง”

“เหตุการณ์ 6 ตุลาที่เราเห็นในนิทรรศการหรือเรารู้จักกันตลอดเวลา 45 ปี ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่องค์กรจัดตั้งของรัฐบาลในขณะนั้น กรณีกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านหรือตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรนำกำลังเข้ามาปราบปรามนักศึกษาในทีนี้ สถานที่จริง เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ในเวลาเดียวกับที่เรายืนตรงนี้ มีคนตายมากกว่าจำนวนที่บันทึกไว้จำนวนมาก ไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ หอสมุดแห่งชาติ ไม่มีหนังสือบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้แต่เล่มเดียว แบบเรียนในหนังสือประวัติศาสตร์ของชาติไทยไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา สุดท้ายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับฆาตกรที่ฆ่าคนในเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ นี่คือความอยุติธรรมที่เราได้รับ”

“หลังจากนั้นมากระบวนการยุติธรรมของเราไม่ได้เคยทำงานเพื่อเอาตัวฆาตกรในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลามาลงโทษแต่อย่างใด เหตุการณ์ผ่านมา 45 ปี เรายืนยันได้ข้อที่หนึ่ง 6 ตุลาคม 2519 ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง เป็นความจงใจของกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนั้นที่ต้องการจะเข้ามากวาดล้างฆ่าฟันและสังหารหมู่นักศึกษาที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของ 45 ปีที่เราเรียกร้องให้หาคนทำผิดมาลงโทษ วันนี้เราจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาด้วยความยากลำบาก เข้าใจว่า พี่น้องที่มาทุกคนในที่นี้คงรู้เห็นว่า กว่าที่เราจะมาจัดงานรำลึกและจัดงานเรียกร้องความยุติธรรมมันเป็นไปได้ยาก หลังจากวันนี้ เรา ผม พี่น้องทุกคนอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาอะไรก็ได้ที่เขากล่าวหาว่า เราจัดงานในครั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ผมเข้าใจดีว่า ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ไม่มีใครวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย”

“เราคงไม่ได้จัดงาน 6 ตุลาคมทุกปีเพียงเพื่อรำลึกหรือแสดงภาพอันโหดร้ายของฆาตกรที่สั่งฆ่านักเรียน นักศึกษาในวันนั้นเท่านั้น จุดมุ่งหมายที่เราเรียกร้องคือการให้นำตัวคนผิดมาลงโทษ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงวันนี้เป็นสิ่งที่พวกเรายืนยันตลอดมา วันนี้มีหมุดหมายที่สำคัญที่เราจะเริ่มนับหนึ่งในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 45 ปี ทำไมจำเป็นต้องเอาคนผิดมาลงโทษ แล้วคนผิดเหล่านั้นบางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว มีประโยชน์อันใดที่จะกลับไปพูดถึงมัน มีเหตุผลอยู่สองสามข้อที่เราจะต้องทำ”

“ประการแรกที่สุด วีรชน 6 ตุลา นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เสียสละชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของเขาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่ได้รับการขอโทษใดๆจากรัฐหรือผู้บงการ ยังไม่ได้รับการชดใช้ทั้งเกียรติภูมิที่เสียไป รวมทั้งผู้ที่ถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมเช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมในขณะนั้น ผมเข้าใจว่า เกียรติภูมิ เกียรติยศ เสรีภาพ ชีวิต เลือดเนื้อของผู้คนที่ผมกล่าวถึงมีความสำคัญเพียงพอที่รัฐไทยจะต้องขอโทษ”

“ข้อสอง การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่นี่ เมื่อ 45 ปีมาแล้ว ในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันพุธ วันเดียวกับวันนี้ ในเวลานี้เป็นเรื่องที่ถูกตัดสินโดยสายตาของมนุษยชาติว่า เป็นอาชญากรรมทางการเมืองที่ผู้ก่ออาชญากรรมต้องได้รับการลงโทษ ข้อสามการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องไม่ให้ลูกหลานของเราถูกกระทำโดยความอยุติธรรมอีกต่อไป”

“ด้วยเหตุผลปรากฏดังนี้ ผมที่เป็นส่วนเล็กน้อยที่สุด ได้ร่วมกับภาคีนักกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเห็นว่า เราจะต้องนำตัวคนผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคมมาลงโทษ ไม่ว่าจะลงโทษในทางสังคม ถึงแม้ว่า คุณตายไปแล้วก็ต้องถูกจารึกว่า เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ลาภยศ บรรดาศักดิ์ต้องถูกถอดถอน”

“มีคนถามว่า เราจะทำอะไร ขอเรียนต่อพี่น้องและขอความสนับสนุน เราจะนำตัวผู้บงการในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าเราจะทำสำเร็จในปีนี้ หรือปีหน้า หรืออีก 45 ปีข้างหน้า เราจะต้องเริ่มทำ เราจะไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์จบลงเพียงวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น ผมกล่าวอย่างนี้อาจจะมีปัญหาในข้อกฎหมาย ซึ่งมันสลับซับซ้อน แต่ผมอธิบายให้พี่น้องเข้าใจว่า ทำได้อย่างแน่นอน และประเทศไทยเคยเป็นภาคีในอนุสัญญาที่กรุงโรมในปี 2541 ที่นานาชาติ 160 กว่าประเทศจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่นำผู้กระทำความผิดหลายประการมาลงโทษ ประการที่หนึ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประการที่สอง การสังหารหมู่ทางการเมือง และอีกสองประเด็น”

ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ในเรื่องการสังหารหมู่ทางการเมือง เราดูแล้วตรงตามที่ธรรมนูญของศาลอาญาระหว่างประเทศตกลงไว้อย่างแน่นอน คดีนี้ไม่มีอายุความตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์เทื่อ 45 ปีที่แล้วเรานำตัวคนผิดมาบงโทษได้อย่างแน่นอน แม้รัฐไทยไม่เคยให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาดังกล่าวถึงแม้เป็นภาคี ไม่ว่าเหตุผลใด ข้ออ้างใด แต่ฆาตกรไม่มีวันพ้นมือจากกระบวนการยุติธรรมอัรเป็นสากลนี้ได้อย่างแน่นอน

“มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนสิ่งที่พวกเราคิด ทรราชและนักการเมืองในหลายประเทศ ทั้งในอเมริกาใต้และแอฟริกาถูกออกหมายจับมาลงโทษ ทั้งที่รัฐดังกล่าวไม่ได้เป็นภาคีหรือให้สัตยาบัน จากการศึกษาอย่างรอบด้านเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ผมเห็นว่า วีรชน 6 ตุลาและวีรชนประชาธิปไตยในทุกๆเหตุการณ์ที่เสียสละชีวิต เลือดเนื้อของตนไปในเหตุการณ์ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยทำสิ่งที่ยากกว่าพวกเราทำ” ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวส่งท้าย