“หมอมิ้ง-ภูมิธรรม” ย้อนอดีต 6 ตุลา 19 โศกนาฏกรรมรัฐต่อปชช.รอวันชำระสะาง

คนเดือนตุลา “หมอมิ้ง-ภูมิธรรม” ย้อนอดีตโศกนาฏกรรมรัฐทำต่อประชาชนรอวันสะสาง วอนรัฐเรียนรู้อดีตหยุดกระทำรุนแรงกับประชาชน

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อดีตนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์หัวข้อ “เรื่องเล่าเดือนตุลา ในสายตาภูมิธรรม เวชยชัยและจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 คืออาชญากรรมที่รัฐกระทำกับประชาชนซึ่งถือเป็นพลังอันบริสุทธ์ เหตุการณ์นี้ยังคงเป็นบาดแผลที่คนเดือนตุลาไม่ได้รับการเยียวยาและคลี่คลาย

แต่ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น ประชาชน นักศึกษา แรงงาน และชาวนา มีเจตนาอันบริสุทธิ์ เพียงแค่อยากมีชีวิตที่ดี อยากเห็นประเทศดีขึ้น มีประชาธิปไตย ไม่ใช่คนทำลายบ้านเมือง ไม่แตกต่างจากการชุมนุมเรียกร้องในปัจจุบัน จึงอยากให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือนักศึกษา และประชาชนต้องเรียนรู้ จากเหตุการณ์นี้ให้ครบทุกมิติ ควรเก็บเกี่ยว ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้รัฐก่ออาชญากรรมกับประชาชนที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นอีก

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวเสริมว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในตอนนั้นคือต้องการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องการเป็นกบฎ แต่รัฐกลับกระทำการตอบสนองที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และทิ้งให้คนยุคนี้มีคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงค้างคาอยู่ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 45 ปี ยังคงเห็นคนรุ่นใหม่ทำงานเพื่อต่อสู้ยืนหยัด สิ่งเหล่านี้ทำให้สบายใจว่า เลือดเนื้อที่สูญเสียไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้หายไปไหน แค่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรม กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วพบว่ารัฐยังคงกระทำแบบเดิม เช่น ความพยายามสร้างชุดข้อมูลบางอย่างขึ้นมาเป็นยากล่อมประสาท หรือ Propaganda แก่ประชาชน ไม่ต่างจากยุคตุลาที่ใช้วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือ แต่ผมเชื่อว่า รัฐจะใช้วาทกรรมสร้างความรุนแรงใส่ร้ายประชาชนที่ออกมาต่อสู้อีกไม่ได้ เพราะเราเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต วันนี้เพียงแค่เราแค่ชูป้าย เราไม่ได้ทำร้ายใคร รัฐก็สั่นคลอนแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย ได้โพสต์เรื่องราวในอดีตของสมาชิกร่วมจัดตั้งกลุ่มแคร์ ทั้งของนพ.พรหมินทร์และภูมิธรรม ที่กินเวลาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ที่ถือได้เป็นยุคของขบวนการนักศึกษาและการเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงของสังคมขนานใหญ่หลังระบอบเผด็จการทหารสิ้นสุด ตั้งแต่เริ่มต้นจนสูญสลายหลังการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัย

โดยในส่วนของภูมิธรรม หรือที่เรียกกันในช่วงอยู่ป่าในชื่อ “สหายใหญ่” ได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่า

ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นผมทำกิจกรรมอยู่กับกลุ่มอิสระ กลุ่มอิสระประกอบด้วยกลุ่มโซตัสใหม่จุฬา ของธรรมศาสตร็ก็มี เศรษฐธรรม เสือเหลือง นิติศึกษา สภาหน้าโดม มีกลุ่มผู้หญิง เกษตรฯ เป็นกลุ่มต่อต้านโซตัส คือต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนที่มีพื้นฐานที่ไม่ชอบระบบที่กดขี่แบบนี้มาตั้งแต่อยู่มัธยมแล้ว

ตอนนั้นก็มีกลุ่มสโมสรนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแบบทางการ แล้วก็มีกลุ่มอิสระเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้จัดตั้งกันเป็นทางการ พวกเสกสรรค์ เขาก็เป็นกลุ่มอิสระ ธีรยุทธ์อยู่กลุ่มสโมสรนักศึกษา ก่อน 14 ตุลาก็มีการเคลื่อนไหวหลายเรื่อง ธีรยุทธ์เขาก็นำ แล้วการเคลื่อนไหวก็สอดรับกับสถานการณ์ ธีรยุทธ์เขาเริ่มเรื่องผ้าดิบต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มอิสระก็จะทำกิจกรรมเป็นคู่ขนานกัน

14 ตุลา 2516 กลุ่มอิสระตอนนั้นธรรมศาสตร์เป็นตัวนำเริ่มกันที่ ธรรมศาสตร์เขาใช้วิธีเอาปูนปาสเตอร์อุดรูกุญแจ ชักธงดำขึ้นที่ตึกโดม แล้วก็ปิดห้องไม่ให้นักศึกษาสอบ

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็ใช้วิธีต่างคนต่างไปหาคนมาไปร่วมม็อบด้วยกัน ผมกับสุรชาติ (ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข)จำได้ไปปลุกเริ่มม็อบที่เสาธงจุฬาฯ มีโต๊ะตัวหนึ่ง ถือโทรโข่ง แล้วก็เดินตามคณะเลย

ตอนนั้นเขากำลังเรียนอยู่ อาจารย์ที่เข้าใจเราตอนนั้นเขาก็ปล่อย ส่วนอาจารย์ไม่เข้าใจเราเขาก็ไล่เราด่าเราตามหลังเลย ในคณะรัฐศาสตร์เดินตามห้องเรียนเลย รัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลิเบอรัลหมดพวกนี้ก็จะปล่อย แต่ที่โดนโห่หนักสุดตอนนั้นคือคณะบัญชี

จนตอนนั้นจำได้ว่า ได้คนมาร่วมประมาณ 400-500 คน แล้วพากันเดินต่อออกสยามสแควร์ ตอนนั้นมันเป็นธรรมเนียมธรรมศาสตร์เขาเดินมาชวนเราก่อน เราก็พากันเดินไปหาเขา เกษตรศาสตร์ฮือฮาที่สุดเพราะเดินไกลกว่าเพื่อน คือเดินจากบางเขน

เรื่องเรียกร้องส่วนสำคัญหลักๆ ตอนนั้น คือความยุติธรรม ความชอบธรรม เรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการ เรื่องอำนาจตุลาการที่ถูกแทรกแซงจากอำนาจบริหาร ตอนนั้นตัวผู้ร้ายคือ รัฐบาลผู้ผูกขาดอำนาจ เรื่องใช้อำนาจไล่นักศึกษาออก

แล้วก็เรื่องที่ ณรงค์ กิตติขจร ใช้ฮอลิคอปเตอร์หลวงไปเสพสุข แล้วนักศึกษาก็โตมาจากกิจกรรมทางสังคมเป็นหลักก็รวมตัวก่อขบวนกันขึ้นมา แล้วก็สั่งสมมาจากการครองอำนาจของถนอม ประภาส ณรงค์ ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2506

ตอนนั้นเหตุการณ์ 14 ตุลา ผมอยู่ในกลุ่มประเมินสถานการณ์และติดตามข่าว เป็นฝ่ายข่าว เรามีศูนย์บัญชาการข่าวอยู่ที่ตึกโดมและตัวแทนกลุ่มอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัย ดูม็อบประเมินม็อบ ตอนนั้นข่าวก็มั่วนะ ไม่รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ข่าวก็สับสน เดี๋ยวก็มีข่าวว่า “จะปราบๆ ปราบแน่นอนๆ” อะไรประมาณนี้

วิธีเช็คข่าวตอนนั้นก็แค่ ดูสถานการณ์ ฟังคนพูดต่อ ๆ กัน ฟังวิทยุ หนังสือพิมพ์อะไรพวกนี้ หนังสือพิมพ์ดาวสยามเป็นตัวสำคัญที่ต้องดูเป็นหลัก เพราะเขาอยู่ฝ่ายตรงข้าม ถ้าออกข่าวมาแล้วเราจะถูกกระทืบไหมเดี๋ยวก็รู้ เหมือนสมัยนี้ ถ้าเราอยากรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามคิดอะไร กำลังจะทำอะไร แต่ว่าตอน 6 ตุลาคม 2516 เขาใช้ประกาศออกวิทยุยานเกราะเลย

ตอน 6 ตุลา ผมก็อยู่ในทีมประเมินข่าวประเมินสถานการณ์เหมือนตอน 14 ตุลา ตอนนั้นมี 2 ฉบับคือ “บางกอกโพสต์” กับ “ดาวสยาม” อยู่ ๆ หนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายของดาวสยาม เขาก็เอารูปที่แสดงการแขวนคอมาขึ้นเลย

จริง ๆ เป็นรูปของอภินันท์ บัวหภักดี กับ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ สองคนนี้แสดงเพราะเขาตัวเล็กแล้วอยู่ชมรมละครของธรรมศาสตร์ แล้วต้องการแสดงให้เห็นความโหดร้ายที่มีการจับช่างไฟฟ้า 2 คน แล้วไปพบว่าถูกจับแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม เขาก็แสดงที่ลานโพธิ์ พวกนั้นก็แต่งภาพแล้วเอามาลงหน้าหนึ่ง

ตอนนั้นช่วง 5-6 โมงเย็น พวกเราเห็นข่าวก็ตกใจ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะสั่งการว่าจะเลิกหรือไม่เลิกชุมนุม ตอนนั้นบนตึก อมธ. ก็ประชุมกันอยู่ ตัวแทนจากทุกมหาวิทยาลัยก็นั่งคุยกัน คือไม่ได้บอกเลิกชุมนุมกันง่ายๆ

วิทยุยานเกราะ ก็ปลุกให้ฆ่าเลย อ้างว่า นศ.เอาบุคคลชั้นสูงมาแขวนคอแบบนี้ต้องฆ่าเลย ตอนนั้นพวกเราก็นั่งดู มีทั้งฝ่ายที่อยากให้สลาย กับฝ่ายที่ไม่อยากให้สลาย

แต่สุดท้ายก็คุยกันว่าจะสลายกันในเช้าวันที่ 6 ตุลาอยู่แล้ว เพราะคิดกันว่า สลายกันตอนดึกวันที่ 5 ตุลา ก็จะอันตราย เพราะก็เริ่มมีก่อม็อบรอบสนามหลวงกันแล้ว ตอนนั้นก็คิดว่ารอสว่างรอรถเมล์มีแล้วก็จะสลายกัน

ยังไม่ทันจะสว่าง ตี 3 ก็มีการยิงใส่พวกเราแล้ว M79 ลูกแรกยิงลงกลางม็อบเลย แล้วตอนตี 4 ตี 5 ก็ยิงเข้ามา พวกนั้นเขาปีนขึ้นไปที่ตึกพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แล้วส่องลงมา การ์ดที่อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ตรงนั้นมีกระสอบทรายกันไว้อยู่ การ์ดพวกเราส่วนใหญ่ก็เป็นพวกอาชีวะ กับ รามคำแหง แล้วเขาอยู่ที่สูงส่องยิงรายคนเลย วิทยา แก้วภราดัย สส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกยิงที่ขาตรงจุดนี้

ถามว่าแล้วผมหนีออกมาได้อย่างไร คือผมลงมาดูม็อบ ตอนนั้นยังอยู่ที่ตึก อมธ. เสร็จแล้วรัฐบาลขอให้พวกเราส่งตัวแทนไปเจอ ตอนแรกเขาจะให้ผมไป คือตอนนั้นผมไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว ตอนนั้นเรียนปริญญาโทแล้ว แต่ก็ยังมาช่วยเป็นแกนนำให้น้อง ๆ ผมเลยบอกให้สุธรรม กับ สุรชาติไป แต่สุดท้าย 2 คนก็โดนจับ

สถานการณ์ตอนนั้นเราก็ลงไปดูที่เวที เจอธงชัย (ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล) อยู่ที่เวทีกับ “หง่าว” น้องชาย และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พวกนี้คือกลุ่มเด็กยุวชนสยาม แล้วก็เป็นแนวร่วมธรรมศาสตร์ ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นเขาน่าจะเรียนอยู่ปี 1 ผมก็บอกว่าเดี๋ยวจะต้องทิ้งเวทีแล้ว ผมก็เดินมาข้างหลังมาเจอกับ ชูศิลป์ วนา เขาอยู่รามคำแหงเป็นกลุ่มอิสระด้วยกัน เลือดเต็มหน้าไปหมด

ผมเจอชูศิลป์ที่เก๋งจีนตรงแถวๆ คณะเศรษฐศาสตร์ริมน้ำเจ้าพระยา เขาบอกว่า “มันยิงหมด ข้างหน้าการ์ดตายเกือบหมด” ตอนนั้นพวกข้างนอกบุกเข้ามา เขาก็ไม่รู้จะทำไง มันจวนตัวมาก เลยตัดสินใจเอาเลือดจากท้องของอีกคนที่โดนยิงตายข้าง ๆ มาป้ายหน้าตัวเองแล้วก็แกล้งนอนตาย พอเขาเลยไปหมด ก็ลุกขึ้นได้ก็รีบหลบออกทางนิติศาสตร์

ตอนผมลงมาจากตึก ผมก็มาเจอ จี้ด สุธีรา ผมก็บอกว่า “ให้ผู้หญิงกับเด็กออกก่อน” ตรงท่าพระจันทร์เพื่อความปลอดภัย ตอนนั้นเหลือแต่พวกเรา มารู้ทีหลังว่า จี้ด กับ ยูน ก็โดนจับเขาก็หิ้วขึ้นรถไปเลยเป็น 1 ใน 18 ด้วย แล้วผมก็ออกมาเจอชูศิลป์สักเกือบ 9 โมง เจอพรหมินทร์ เจอเทียนชัยอีกคน

สถานการณ์ตอนนั้นมันไม่ไหวแล้ว เราช่วยกันพาแกนนำทั้งหมดหลบออกไปก่อน ตอนนั้นถ้าพวกข้างนอกเจอพวกเราคงจะถูกฆ่าแน่นอน กระทิงแดงเห็นหน้าแกนนำก็จำได้ทุกคน ถ้าเป็นคนร่วมชุมนุมทั่วไปก็คงถูกจับ ตอนนั้นเขายิงบาซูก้า M79 เสียงดัง ตู๊ม ตู๊ม…!! เหมือนกับอยู่ในสนามรบ

พอตอนสายๆ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เพื่อนๆ บอกว่า

“ทำอย่างไรก็ได้ให้หลุดออกไปให้ได้ แล้วไปเจอกันข้างนอก”

ผมเลยตัดสินใจกระโดดลงท่าน้ำจะว่ายน้ำข้ามเจ้าพระยา ว่ายไปได้ซักพักไม่ถึงครึ่งทาง “เขาอยู่บนเรือยิงใส่ ผมหันหลังกลับเข้าฝั่งมาทันทีเลย” ยิงรัวแบบ ปักๆๆ คือเราก็ไม่รู้หรอก ว่าเขายิงเราหรือเปล่า แต่ขอหนีก่อน แล้วก็หนีมาขึ้นตรงท่าพระจันทร์ ซึ่งตรงนั้นมีร้านข้าวแกงร้านจั้ว ร้านนี้คือร้านนักกิจกรรมเสร็จงาน 4 ทุ่ม 5 ทุ่มก็ออกมากินข้าว

เราบอกเราต้องออกให้ได้ ตอนนั้นถ้าพวกเขาเห็นหน้าพวกเราต้องถูกกระทืบตายตรงนั้นแน่ๆ คิดอย่างเดียวว่า “ถ้าเราหนีเราอาจจะมีสิทธิรอด”

ผมก็ค่อยๆ หลบเดินไปจนถึงท่ามหาราช พอถึงท่ามหาราชข้างนอกมันออกไม่ได้ เห็นเขาจับคนกันเต็มไปหมด ผมตัดสินใจโดดลงเรือแท็กซี่ เป็นเรือเล็กขนาด 10 คน เป็นเรือที่พาฝรั่งเที่ยววัด มีคนโดดลงมากับผมเกือบ 10 คนได้ ผมบอกลุงคนขับไปส่งฝั่งตรงข้ามหน่อย ตอนนั้นคิดว่าถ้าข้ามแม่น้ำได้เรารอดแน่

ตอนเรือกำลังขับข้ามไป เจ้าท่าหรือทหารเรือเรียกให้จอด เราก็บอก

“ลุงอย่าจอดนะ ถ้าจอดพวกเราตายหมดแน่”

ลุงคนขับก็ฝืนขับไปส่งจนถึงวังหลัง ตอนนั้นเสียงปืนก็ดังตามมาติดๆ เขายิงใส่หรือเปล่าไม่รู้ แต่ทุกคนก็พากันโดดลงท่าวังหลังหมด ตอนนั้นวิ่งเข้าไปในศิริราช คิดว่าจะขอให้หมอช่วยพาเราหลบในศิริราช พอเข้ามา เห็นตำรวจตั้งแถว

ผมเลยตัดสินใจโดดขึ้นรถเมล์สาย 80 แทรกเข้าไปหมู่คนในรถก่อน ตอนนั้นถ้าในรถมีใครขวาจัด ผมโดนคงจับไปแล้วแน่ ๆ เราก็อยู่ในรถ รถวิ่งผ่านท่าน้ำศิริราช ผ่านสี่แยกพรานนก ผมก็โดดลงตรงนั้น เข้าตรอกซอกซอย คือแถวนั้นตรงนั้นซอกซอยมันเยอะ แล้วเราก็เด็กฝั่งธนฯ ก็พอจะรู้ทางบ้าง

ตอนนั้นผมแอบหนีไปนอนอยู่บ้านพลเรือโททหารคนหนึ่ง ภรรยาเขาเป็นเพื่อนกับแม่ผมแกรู้จักสนิทกับผมดี ผมก็เลยโดดเข้าบ้านแกขอไปหลบ ตอนนั้นข้างล่างเขาก็คุยกันเรื่องเหตุการณ์กัน ผมแอบอยู่ได้สองวันก็หนีออกจากบ้านไปเข้าป่า

ผมตัดสินใจเข้าป่าวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์เพียงอาทิตย์หนึ่งได้ ผมนั่งรถเมล์จากซอยรางน้ำ ไปลงที่นางรอง บุรีรัมย์ ไปแบบไม่รู้จักใครเลยสองคน เขาก็ให้ถือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐม้วนมือซ้าย กระเป๋าให้เหน็บปากกาบิ๊กสีฟ้าสีแดง ก็ต้องไปหาซื้อปากกา และก็ไม่รู้ใครเดินอยู่

รอจนกระทั่งมีคนมาทักทาย ถ้าเขาถามทางไปบุรีรัมย์ทางนี้ใช่มั้ย เราต้องตอบว่าไม่ใช่โคราชไปทางนี้ เป็นรหัส เหมือนหนังสายลับ

ผมไปใช้ชีวิตในป่า 4 ปีกว่าตอนหนีไปครั้งแรกต้องแยกกับภรรยา ผม ใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าจดหมายฉบับแรกของเราจะส่งมาถึงกัน ตอนนั้นทำอะไรก็ไม่ได้ จำเป็นจะต้องแยกกัน ผมเคยไปรับเพื่อนคนหนึ่งคนหนึ่งเห็นลูกกับแม่เขากอดกันร้องไห้เหมือนใจจะขาด ไม่ให้ลูกไปก็ไม่ได้ อยู่ก็อันตราย จำใจต้องปล่อยลูกไป

ผมยืนดูตอนนั้นหดหู่มากเหมือนเราไปแยกของรักออกจากอกของเขา ตอนหลังออกจากป่าพ่อแม่เพื่อนผมหลายคนมาเล่าให้ฟังว่า สิ่งเดียวที่ทำได้ตอนนั้นเมื่อยามคิดถึงลูกคือ

“ขับรถออกจากกรุงเทพฯ แล้วไปยืนดูป่า ดูภูเขา คิดได้เพียงแค่ว่า ลูกเราคงอยู่ที่ไหนสักที่ในป่านี้”

ฟังแล้วโอ้โห้…!! มันสุดที่จะบรรยายจริง ๆ

ขณะที่เรื่องราวของนพ.พรหมินทร์ หรือสหายจรัส จากนักศึกษาแพทย์ที่ต้องเข้าป่าจับอาวุธแทนนั้น โพสต์ระบุว่า

เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มันเริ่มยิงกันตั้งแต่เช้าเลย ผมเห็นมีเฮลิคอปเตอร์บินต่ำลงมา แล้วเริ่มกราดปืนกลยิงใส่คนที่สนามหลวง ตอนนั้นผมกำลังจะมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำอะไรไม่ได้
.
ในใจคิดเพียงแค่ว่า คงมีแค่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เดียวที่พวกนั้นไม่น่าจะกล้ายิง ผมเลยตัดสินใจวิ่งหลบกระสุนเข้าไปในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองรอจนสิ้นเสียงปืนแล้วค่อยๆ เดินออกมา
.
ตอนนั้นผมไปกับเพื่อน 2 คน ก็คิดกันว่ามันเข้าไปไม่ได้แล้วในการชุมนุมเพราะสภาพมันชุลมุนมากมันเหมือนอยู่กลางสนามรบเลยตัดสินใจออกมากลับมานั่งเครียดกันอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ รามาฯ
.
ในคืนวันนั้น (14-15 ตุลา) มันล้อมปราบทำประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก วันนั้นผมตัดสินใจไม่ได้กลับบ้าน แต่เข้าไปเป็นอาสาสมัครอยู่ที่โรงพยาบาลรามาฯ เพราะตอนนั้นถ้ามีคนเจ็บเขาจะส่งมาที่โรงพยาบาลรามาฯ ผมก็อาสาช่วยเขาตอนนั้น ไปบริจาคเลือด ช่วยรับบริจาคเงิน เป็นอาสาเฝ้าระวังทหารที่จะบุกเข้ามาจับผู้บาดเจ็บ คือต้องบอกว่า ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
.
ตอนนั้นมันอยู่ในสภาวะที่เครียดมาก มันผวาไปหมด ผมช่วยเขาอยู่ 2 วันที่ไม่เข้าบ้าน กลับเข้าบ้านไปอีกทีวันที่ 16 ตุลา นอนแทบไม่ได้เลย ได้ยินเสียงรถหวอ เสียงรถโรงพยาบาลมาที สะดุ้งตลอด คือมันเครียดไปหมด มันทำไรไม่ได้ มันกลัวเสียงรถหวอไปหมด
.
แต่ถ้าถามว่า “ผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้อย่างไร” ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบ แต่จริงๆแล้วในเหตุการณ์นี้ผมต้องบอกว่าผมเป็นเพียงผู้ร่วมเหตุการณ์ และก็ได้เข้าไปช่วยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเขานิดๆ หน่อยๆ แค่นั้น ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจัดตั้งขบวนการอะไร
.
เพราะตอนนั้นผมเพิ่งอยู่ปี1 แพทย์มหิดล เราก็ไม่ได้คิดอะไรก็ตั้งใจจะเรียนให้ดีกับเล่นกีฬาเป็นหลักแต่ สุดท้ายก็จับผลัดกับผลูได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการในเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนเป็นส่วน หนึ่งของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ
.
ทีนี้ย้อนกลับไปตอนที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ มันมีบรรยากาศทั้งภายในโรงเรียนและภายนอก โรงเรียนหลายๆ อย่างที่ทำให้พวกเรา เริ่มตั้งคำถามต่อสังคม ตั้งคำถามกับสภาพที่มันเป็นอยู่ และทำให้พวกเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง
.
โรงเรียนสวนกุหลาบคือมันเป็นโรงเรียนรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่มีนักเรียนจากหลากหลายพื้นเพเข้ามาเรียนด้วยกัน สวนกุหลาบคือพูดง่ายๆ เป็นโรงเรียนตั้งแต่ลูกเด็กวัดยันลูกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นมันทำให้ผมเห็นอะไรเยอะ รู้ชีวิตเยอะ เนวิน ชิดชอบ จาตุรนต์ ฉายแสง คำนูญ สิทธิสมาน ธีรยุทธ์ บุญมี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจกุล อากู๋แกรมมี่ ลูกพ่อค้า ลูกข้าราชการทั้งนั้น
.
การเรียนการสอนก็ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชอะไรเหมือนทุกวันนี้ คะแนนเข้าห้องไม่มีนะ ครูเขาก็ปล่อยเลย ให้เรียนรู้ นอกห้องเรียนแต่ยังไงก็ต้องสอบให้ผ่าน คือจริงๆ พวกครูในโรงเรียนเขาก็พอรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเรียนดี ก็เลยปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้เอาภายนอก
.
ผมกับเพื่อนชอบไปเข้าห้องสมุดบริติช เคานซิล สมัยนั้นอยู่ตรงสะพานพุทธยอดฟ้า ตอนนั้นเข้าไปแล้วรู้สึกเท่มากเพราะหนังสือเป็นภาษาอังกฤษหมด บางเล่มอ่านไม่รู้เรื่องอาศัยดูแต่รูปเอา หรือบางครั้งเราต้องทำโครงงานส่งอาจารย์ อย่างโครงงานวิทยาศาสตร์บางครั้งเราก็ไปปรึกษาอาจารย์ที่จุฬาฯเลย หรืออย่างวิชาคณิตศาสตร์แคลคูลัส
.
ผมอยู่ มศ.3 ผมก็แอบไปนั่งเรียนกับพี่ๆ ที่ธรรมศาสตร์ หรืออย่างวิชาภาษาไทยเราก็ได้หัดทำหนังสือกัน สมัยนั้นทำกันตั้งแต่หาสปอนเซอร์ยันเข้าโรงพิมพ์ตีพิมพ์ ผมกับเพื่อนๆเป็นเด็กมัธยม อยู่แก้หนังสือกันที่โรงพิมพ์กันยันห้าทุ่มเที่ยงคืน คือบรรยากาศการเรียนการสอนแบบนี้มันทำให้พวกเรา ได้เรียนรู้อะไรที่มากกว่าในห้องเรียน
.
คือตอนนั้นมันมีกิจกรรมมาก มีชมรมเยอะแยะ เริ่มมีกิจกรรมเชื่อมระหว่างโรงเรียน 30 กว่าโรงเรียน ปีที่ผมเข้าสวนกุหลาบปีแรกปีนั้นประธานวิชาการคือธีรยุทธ์ บุญมี มีการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ แล้วก็มีสังคมศาสตร์นิทัศน์จัดเชื่อมกัน มีการจัดนำเสนอผลงานต่างๆ มากมาย
.
ช่วงนี้มันก็เริ่มเปิดกว้างในทางการเมือง คือผมต้องบอกว่าผมโตมากับระบอบเผด็จการ ผมเกิดในปี 2497 แล้วเราก็ไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ ภายใต้เผด็จการมานานมาก สิ่งที่ผมรับรู้คือมันมีบรรยากาศของความรุนแรง มีการจับข้อหาคอมมิวนิสต์ แล้ว สิ่งที่เผด็จการตอนนั้นชอบทำคือ เขาชอบเด็ดขาด สั่งจับ สั่งยิง คนไปทั่ว
.
จนกระทั่งตอนนั้นผมอยู่ มศ.2 ปี 2512 ตอนนั้นผมอายุ 15 ปี เป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง เราตื่นเต้นกันมาก ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีสิทธิ ชวน หลีกภัย เสนาะ เทียนทอง ก็เป็นได้เป็น สส. สมัยแรกกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงพ่อของจาตุรนต์ ฉายแสง จนเพื่อนๆเรียกกันว่า “ไอ้ สส.ๆ” จนในที่สุดจาตุรนต์ก็มาได้เป็น สส. ตัวจริงในปี 2529
.
บรรยากาศการเลือกตั้งตอนนั้นพวกเราตื่นเต้นกันมากจริง ๆ คือต้องบอกว่าเราไม่มีการเลือกตั้งมานานกว่า 12 ปี แต่ภายหลังการเลือกตั้งได้ 2 ปี พ.ศ.2514 ถนอม กิติขจร ก็ทำรัฐประหารตัวเอง คือบรรยากาศนี้มันทำให้เราเกิดคำถามในใจว่า “อะไรวะ เพิ่งเลือกตั้งได้แค่ 2 ปี ทำไมรัฐประหารอีกแล้ว”
.
ตอนนั้นผมอยู่ มศ. 5 เริ่มมีการชุมนุมต่อสู้ต่างๆ กับการลุแก่อำนาจ ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เริ่มมีการเขียนหนังสือวิจารณ์ ณรงค์ กิตติขจร มีอำนาจและกร่างมาก ทะเลาะกับตำรวจ ยกป้อมตำรวจทิ้งได้เลย แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่เฮลิคอปเตอร์ตก
.
ผลคือซากกระทิงที่ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร มีดาราสาวไปด้วยตอน นั้นแล้วพอมีการต่อต้านของนักศึกษากลุ่มนักศึกษาก็โดนไล่ออก 9 คนจากมหาวิทยาลัยแต่นักศึกษาไม่ยอม ก็ เขาก็มากดดันไล่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงออก
.
แล้วในสภาวะการเมืองที่ถูกกด ก็เริ่มเรียกร้อง รัฐธรรมนูญ อย่างธีรยุทธ์ ก็เข้าเป็นเลขาศูนย์กลางนักศึกษาแห่งประเทศไทย เริ่มจากเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้า ญี่ปุ่น แล้วก็ส่งเสริมสินค้าไทยคือ เรื่องผ้าดิบ
.
ตอนนั้นผมเป็นประธานนักเรียน ธีรยุทธ์มาชวนผมตั้งศูนย์นักเรียน เรียกพวกผมกับโรงเรียนดังๆไปคุยกับที่ศาลาพระเกี้ยว ตอนนั้นพวกเราไม่มีใครเอาด้วยเพราะปีนั้นจะเอนทรานซ์ แล้วคือสมัยนั้นมันไม่ใช่เอนทรานซ์ธรรมดา พวกเรามันนักเรียนห้องคิง มันต้องแบบคะแนนต้องท็อป เขามาตั้งศูนย์นักเรียนได้ในอีกปีถัดมา เลขาธิการศูนย์ฯ หนึ่งในนั้นมี ธงชัย วินิจกุล
.
คือบรรยากาศต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่ภายในโรงเรียนและการเมืองนอกโรงเรียน รวมถึงกระแสที่ถูกกดจากอำนาจเผด็จการ มันเลยทำให้เราต้องต่อสู้
.
ทีนี่ ตอนผมเข้าปี 1 ที่มหิดล ผมก็กะวางมือ กะจะเรียนให้สุดๆ กับเล่นกีฬา ไม่อยากยุ่งกับใครแล้ว แต่ก็เริ่มมีการประท้วงหลายเรื่องนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็ตามข่าวเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยว
.
ก็มีเพื่อกลุ่มหนึ่งมี จิ้น กรรมาชน นพพร ยศฐา เป็นคนลำปางเป็นคนร่วมกันแต่งกลอน เปิดวงดนตรี ร่วมกับแต่งเพลง “กรรมาชน” “เพื่อมวลชน” นั่งอยู่ข้างหลังห้อง คือพวกผมเป็นพวกเข้าเรียนสาย ห้องเรียน พวกผมเป็นห้องเรียนใหญ่ 2-3 ร้อยคน พวกนี้ก็ไปนั่งแต่งเพลงอยู่หลังห้องอาจารย์ก็ไม่รู้ไม่ได้ยิน
.
บรรยากาศตอนนั้นช่วงที่ผมเข้าเรียนมหิดลเป็นช่วงที่มันคร่อมระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา กับ 6 ตุลา คือตอนปี 14 ตุลา 2516 ผมอยู่ปี 1 แล้วก็ 6 ตุลา 2519 นี่ ผมอยู่ปี 4
.
วันนั้นพอสอบเสร็จเรายังไม่รู้เรื่องเลย แต่ธรรมศาสตร์ก็เริ่มสู้แล้ว เป็นวันที่ชักธงดำ ตัดสายไฟลิฟต์ออก ห้องสอบเอาปูนปาสเตอร์อัดเข้าไปในรูกุญแจ คือตอนนั้นมันมีเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญก่อน แต่โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดนจับ 13 คน
.
อ.นพพร สุวรรณพาณิชย์ นักการเมือง อุทัย พิมพ์ใจชน พวกนี้ก็โดนจับไป ตอนนั้นนักศึกษาก็คิดกันว่า ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรมันคงมาจับกูแน่ๆ ก็เริ่มซัดเลย ตั้งการชุมนุมเลย ร่วมกลุ่มกันเลย ด้วยวิธีงดสอบต่าง ๆ ช่วยกันหลายคนหลายฝ่าย แล้วหลังจากนั้นมหิดลก็ไปร่วมกับเขา
.
ตอนนั้นสอบเสร็จผมก็มีจัดโปรแกรมไปเที่ยวระยองกันทั้งคณะ ไอ้จิ้น กับนพพร 4-5 คนไปชุมนุมค้างคืนมา กลับมามาด่าผมใหญ่เลย
“นี่ประชาชนทำเพื่อประเทศ พวกคุณจะมัวแต่ไปเที่ยวอะไร”
แล้วผมคือประธานจัดแล้วก็มีกรรมการจัดเขาก็เห็นด้วยกับจิ้น แต่ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะรับผิดชอบคนทั้งคณะ จัดไปแล้วรถทัวร์ตั้ง 3-4 คัน แล้วติดต่อรถนำขบวนอะไรเรียบร้อยไว้หมดแล้วก็เลยต้องไปกับเขา
.
กลับมาวันที่ 13 เราก็ไม่ได้ไปชุมนุมอะไรกับเขา วันที่ 14 ตุลาคม วันนั้นผมไปเรียน รด. แต่งชุดทหารอยู่เลย ก็เริ่มมีเหตุการณ์ แต่วันนั้นก็หยุดเรียนกันหมดเพราะทหารมา ก็ไม่รู้จะทำยังไงแตกกันไปหมดแล้ว
.
ผมเลยตัดสินใจไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านเพื่อนแล้วไปร่วมชุมนุมไปกันกับเพื่อน 2 คน ตอนนั้นกำลังยิงเลยเหมือนสนามรบเลย ผมก็เข้าไปร่วมชุมนุมไม่ได้ก็เลยต้องกลับไปนั่งเครียดกันที่คณะวิทยาศาสตร์ แล้วก็ได้ร่วมเป็น อาสาสมัครช่วยคนเจ็บที่โรงพยาบาลรามาฯ
.
คือหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้คิดจะเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย ต้องการเพียงแค่ อยากเรียนให้ดีแล้วก็คู่กับไปกลับเล่นกีฬาเฉยๆ เหตุการณ์นี้มันเลยทำให้ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ขบวนการนักศึกษาในยุคต่อมา จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
.
ตอนนั้นผมช่วยขบวนการนักศึกษาเต็มตัว เรียนก็เริ่มไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่แล้ว เพราะไปทำแต่กิจกรรมกับขบวนการนักศึกษา ก็ยังดีมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยติวให้ ปัจจุบันคือแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ช่วยติวแล้วก็ให้ยืมเลคเชอร์อ่าน
.
จนมันมีการล้อมปราบนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่เขายิงกันผมก็โทรไปที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา เพื่อขอรถพยาบาลมาช่วยคนเจ็บ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ
ผมถูกถามจากปลายสายว่า “คุณเป็นใคร” ผมก็บอกว่า ผมเป็นศึกษาแพทย์ปี 4 ชื่อนี้ชื่อนี้ ผู้อำนวยการมารับสาย อาจารย์ผมเองทั้งนั้นผมรู้ ผมก็บอกไปว่า เรากำลังโดนอาวุธหนักโดยที่เรามือเปล่า เขาบอกพวกคุณก็มีอาวุธหนัก ซึ่งผมฟังแล้ว ผมถึงกับน้ำตาไหล
.
จากเหตุการณ์ครั้งนี้กับชีวิตวัยเรียนของผมที่มันอยู่คร่อมระหว่าง 2 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและสำคัญที่สุดในชีวิตผม มันทำให้ผมตัดสินใจละทิ้งชีวิตนักศึกษาแพทย์ในเมือง ไปใช้ชีวิตเป็นทหารในป่าอยู่หลายปีต่อมา…