ซูจีวอนศาลลดไต่สวนถี่ ทนายชี้กระทบสุขภาพเหตุอายุมากแล้ว

วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เดอะการ์เดียน รายงานว่า นางออง ซาน ซู จี อายุ 76 ปี ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา (พม่า) ขอให้ศาลพิจารณากำหนดเวลาการไต่สวนคดีเป็น 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยจากอายุที่มากขึ้น

เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากแถลงการณ์ของนายขิ่น เมียง ซอ ทนายความของนางซูจี ซึ่งรับผิดชอบต่อสู้ข้อหาจำนวนมากตั้งแต่คอร์รัปชั่นไปจนถึงมีวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต ถูกตั้งขึ้นหลังกองทัพพม่าก่อเหตุยึดอำนาจตั้งแต่ 1 ก.พ.

ซูจีวอนศาลลดไต่สวนถี่
แฟ้มภาพ นางซู จี / Photograph: Peter de Jong/AP

ความเคลื่อนไหวของนางซูจีเกิดขึ้นหลังนางซูจีไม่สามารถเดินทางมาเข้ารับการไต่สวนที่ศาลกรุงเนปิดอว์ได้เมื่อเดือนก.ย. เนื่องจากมีอาการมึนศีรษะจากเมารถ อย่างไรก็ตาม นายขิ่น ยืนยันว่า นางซูจีไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง เพียงแต่มีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเท่านั้น

นายขิ่น ระบุว่า อาการเหนื่อยล้าของนางซูจีเกิดขึ้นหลังจากต้องเดินทางมารับฟังการไต่สวนของศาลทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์ นำมาสู่คำขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนเป็นทุกๆ 2 สัปดาห์แทน โดยศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดในสัปดาห์หน้า

นางซู จี ถูกนำตัวขึ้นศาล

รายงานระบุว่า การไต่สวนคดีของนางซูจีเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์มิคสัญญีทางการเมืองหลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมานำไปสู่การสู้รบ ระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย ระบบการเงินเป็นอัมพาต และระบบการศึกษาไม่สามารถทำงานได้ ขณะที่การสู้รบก็แผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่นอีก

ข้อมูลจากมูลนิธิ Save the Children บ่งชี้ว่า มีชาวพม่าอย่างน้อย 206,000 คน ต้องอพยพหนีตายจากการสู้รบ ในจำนวนนี้ เป็นเด็กกว่า 76,000 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาหารเพียงพอ และต้องอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ตามป่าเขา

ซูจีวอนศาลลดไต่สวนถี่
ชาวพม่าเดินขบวนต่อต้านการยึดอำนาจ (The Guardian)

สอดคล้องกับข้อมูลของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ระบุว่า มีชาวพม่าถึง 22,000 คน ต้องอพยพหนีการสู้รบเมื่อเดือนก.ย. และมีผู้อพยพไร้ที่พักอาศัยกว่า 8 หมื่นคน เฉพาะในรัฐกะยา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สถานการณ์รุนแรงที่สุด

แถลงการณ์ Save the Children ระบุว่า “ครอบครัวผู้อพยพต้องมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีทรัพย์สินใดๆ แม้แต่อาหารประทังชีวิตมื้อเดียวต่อวันก็ต้องแบ่งกันรับประทาน 6-7 คน เด็กๆ กำลังเผชิญกับความหิวโหย และอีกไม่นานอาจเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ และภาวะทุพโภชนาการ”

ซูจีวอนศาลลดไต่สวนถี่
ระบบธนาคารเป็นอัมพาต (The Guardian)

ทั้งนี้ ยูเอ็นคาดว่า มีชาวพม่าประมาณ 3 ล้านคน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จากเดิม 1 ล้านคน ในช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร ขณะที่ Save the Children ระบุว่า ความช่วยเหลือจากหน่วยงานสากลนั้นเข้าถึงน้อยมาก และผู้อพยพต้องอาศัยความช่วยเหลือจากชาวบ้าน

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเตือนไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าหน่วยงานสากลที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้อพยพนั้นต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่จากกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ และปัญหาขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

“เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจะต้องได้รับความปลอดภัยและความสะดวกในการปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยชีวิตผู้คน” และเตือนอีกว่า “พม่ากำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการกลายสภาพเป็นสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่” กูเตร์เรส ระบุ