ศาลทหารประทับรับฟ้อง “ร้อยโทกับพวก” คดีซ้อมทรมานพลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต

ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งประทับรับฟ้องร้อยโทกับพวกรวม 9 คน กรณีซ้อมทรมานพลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผย ความคืบหน้า กรณีการดำเนินคดีกับ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งรับฟ้องร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ กับพวกรวม 9 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา โดยศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งนัดให้จำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งคำฟ้องของพนักงานอัยการ ภายในวันที่ 25 พฤษจิกายน 2564 นี้

โดยครั้งนี้ นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้รับมอบอำนาจจาก นางประเทือง เผือกสม มารดาของผู้เสียหาย พร้อมด้วยทนายความเดินทางไปที่ ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้อง กรณีอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 46 หลังจากที่เลื่อนนัดมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เป็นกฎหมาย ยังผลให้การดำเนินคดีอาญากับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารที่กระทำละเมิดในข้อหาทั้งสองนี้จึงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะมีกฎหมายเขียนจำกัดไว้ว่าจะต้องดำเนินคดีในศาลทหารเท่านั้น และในคดีเป็นตัวอย่างช่องว่างว่าฝึกทหารหรือลงโทษทหารเกณฑ์ถึงขั้นเป็นคดีทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหารแบบนี้ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน

ขณะที่บางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับโทษแค่ทางวินัย และได้กลับมาเป็นครูฝึกทหารเช่นเดิม หรือบางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐยังได้เลื่อนตำแหน่งทางราชการในยศที่สูงขึ้น แม้จะมีคำพิพากษาศาลสูงสุดตัดสินแล้วว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกระทำความผิดโดยการซ้อมทรมานจริง จึงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาโดยพลันและอย่างจริงจังย่อมถือเป็นการส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ การซ้อมทรมานก็จะยังคงปรากฎให้เห็นตามสื่อออนไลน์ดังเช่นในปัจจุบัน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจติดตามคดีดังกล่าวนี้ในกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลทหารต่อไป พร้อมทั้งร่วมกันติดตามการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องปรามวัฒนธรรมการซ้อมทรมานให้หมดไป โดยนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการอาชญากรรมร้ายแรงเช่นนี้มารับผิดให้จงได้ รวมทั้งจะสามารถมอบความเป็นธรรมให้กับพลทหารวิเชียร เผือกสม (ผู้ตาย) และครอบครัวเผือกสมที่ลูกชายผู้เป็นที่รักถูกพรากสิทธิในการมีชีวิตและสิทธิเนื้อตัวร่างกายไปได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถกระทำการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้อีกได้

เป็นเวลา 10 ปีแล้ว สำหรับกรณีของพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกซ้อมทรมานจนกระทั่งเสียชีวิตในค่ายทหาร โดยนางสาวนริศราวัลย์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม ได้เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวเผือกสม และขอให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้สมัครเข้ารับการราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 และเข้าฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ในหน่วยฝึกของค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ทหารหลายนายได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร เผือกสม ด้วยวิธีการทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายโดยอ้างว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม หลบหนีการฝึก ทำให้พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นางสาวนริศราวัลย์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากมารดาของพลทหารวิเชียร เผือกสม จึงได้มีการยื่นฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จนคดีแพ่งถึงที่สุดแล้ว ขณะที่คดีอาญายังคงอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารจนถึงปัจจุบัน