ลุงป้อม” นำทัพลงพื้นที่โคราช สั่งผู้ว่าฯ เร่งสำรวจความเสียหายเยียวยา ผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็วที่สุด

“ลุงป้อม” นำทัพลงพื้นที่โคราช สั่งผู้ว่าฯ เร่งสำรวจความเสียหายเยียวยา ผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็วที่สุด

วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และลุ่มน้ำลำเชียงไกร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายวิเชียร จันทรโรทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา หลังจากนั้น ลงพื้นที่บริเวณก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโดยเร่งด่วน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบภัยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วม จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.โชคชัย และ อ.ด่านขุนทด และ อ.เมือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่ อ.ด่านขุนทด อ.พระทองคำ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง ที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเพิ่มเติมจากเดิม

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ข้อมูล 30 ก.ย.64) อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 90.7 % ของความจุ ลดลงจากเมื่อวาน โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและทางระบายน้ำล้นรวม 4.3 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24.82 % ของปริมาณความจุ มีระดับน้ำลดลง โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 5.75 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 13.8 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำจะลดลง และพื้นที่ท้ายอ่างฯ ที่ได้รับผลกระทบก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งปิดทำนบดินชั่วคราวาเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 5 วัน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้งหน้า ซี่งกรมชลประทานยืนยันว่าก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้จะสามารถเก็บกักน้ำที่ยังไหลมาจากอ่างฯ ลำเชียงไกรตอนบนได้อีกไม่น้อยกว่า 60 % ของความจุ หรือคิดเป็น 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญยังสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายเพื่อเร่งจ่ายค่าชดเชยโดยเร็ว

สำหรับ จ.นครราชสีมา อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบน ซึ่งสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำมีความลาดชันสูง เสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมทันที เนื่องจากลำน้ำรับปริมาณน้ำได้จำกัด อีกทั้งมีการตื้นเขินของลำน้ำ ตลอดจนการบุกรุกลำน้ำ และสภาพการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เงาฝน ใน อ.ประทาย อ.โนนแดง อ.สีดา อ.บัวลาย อ.พระทองคำ อ.ขามสะแกแสง อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.พระทองคำ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในส่วนแผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ช่วงปี 2561-2564 ได้ดำเนินการไปแล้ว 2,394 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 54.81 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 172,490 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 149,355.82 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 73,703 ไร่ สามารถป้องกันตลิ่งได้ 860 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการตามงบบูรณาการ ในปี 2565 จำนวน 59 แห่ง ความจุ 7.83 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 25,028 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 39,103 ครัวเรือน และมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 78,174 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน/โครงการสำคัญที่จะดำเนินการอีก 11 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 102 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 153,270 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 104,175 ครัวเรือน ประกอบด้วย 1)โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์-มวกเหล็ก-ลำตะคอง มีความจุ 94 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 20,000 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อม 2)โครงการบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครนครราชสีมา-อำเภอพิมาย และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน อ.โนนสูง มีพื้นที่รับประโยชน์ 40,00 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,000 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ 3)โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปักธงชัย-โชคชัย ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 25,500 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ และ 4)โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า มีประชาชนได้รับประโยชน์ 64,371 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
1 ตุลาคม 2564