‘มานพ’ เร่งเครื่องลงรับฟังผลกระทบโครงการผันน้ำยวม หลังชาวบ้านจ่อยื่นทบทวนอีก

มานพ ก้าวไกล ลุยงานต่อหลังปิดสมัยประชุม ลงพื้นที่เร่งเครื่องรับเรื่องร้องเรียนผลกระทบโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล หลังชาวบ้านเตรียมยื่นประยุทธ์ – อนุพงษ์ ทบทวนอีกครั้ง ย้ำชัด พร้อมเป็นผู้แทนประชาชน นำเรื่องผลักดันอย่างถึงที่สุด

วันที่ 29 กันยายน 2564 มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด เพื่อรับฟังปัญหา ผลกระทบและข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ต่อกรณีโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล โดยมีนายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด นายวิรัช อ้ายจาง กำนันต.นาคอเรือ นายจรัญ นะวะโต กำนัน ต.ฮอด พร้อมทั้งตัวแทนชาวบ้าน ได้ร่วมพูดคุยและนำเสนอข้อมูลในพื้นที่จากนั้นได้เดินทางไปดูพื้นที่ซึ่งชาวบ้านให้ข้อมูลว่าบริเวณดังกล่าวจะถูกสร้างเป็นพื้นที่ปากอุโมงค์

มานพ กล่าวว่าพบว่าปัญหา ผลกระทบ อีกทั้งข้อกังวลที่ชาวบ้านมีต่อโครงการดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1.กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ขาดกระบวนการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ขาดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน และไม่ปรากฎความคิดเห็นของชาวบ้านในตัวรายงาน

2.ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจต่อตัวโครงการ ทั้งข้อมูลโครงการ ผลดี ผลเสีย หรือกระบวนการดำเนินงานต่างๆ โดยที่ผ่านมามีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจต่อชาวบ้านเพียงไม่กี่ครั้ง มีเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ก็จำกัดกลุ่มคนเข้าร่วม ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีดังกล่าว

3.เดิมชาวบ้านหลายหมู่บ้านใน อ.ฮอด รวมทั้งชาวบ้านตำบลนาคอเรือ เคยได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล คือ ชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดินและต้องอพยพโยกย้ายออกจากหมู่บ้านเดิม เหตุการณ์ดังกล่าวแม้ผ่านมานานกว่า 50 ปี แต่กระบวนการชดเชยและเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ การเกิดขึ้นของโครงการผันน้ำยวมฯจะยิ่งส่งผลกระทบและซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง ชาวบ้านจะสุญเสียทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน

4.ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ต่างอาศัยป่าไม้ สัตว์ป่าและแม่น้ำในการดำรงชีวิตมาอย่างยาวนาน มีการพึ่งพิงและเกื้อกูลอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โครงการผันน้ำยวมฯ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีขั้นตอนของการขุดเจาะอุโมงค์ทะลุพื้นที่ กระบวนการเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมทั้งทั้งผืนป่าและแม่น้ำ

5.โครงการผันน้ำยวมฯยังขัดต่อวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ (กะเหรี่ยง) ในพื้นที่ ซึ่งบรรพบุรุษดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงมีข้อห้ามอย่างเด็ดขาดในการไม่ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ

“ผมคิดว่าปัญหา ผลกระทบ และข้อกังวลดังกล่าวชาวบ้านได้มีการคัดค้านโครงการเรื่อยมาแต่ภาครัฐยังคงเดินหน้าดำเนินการโดยไม่สนใจเสียงชาวบ้านมากกว่านั้นคือมีรายงาน EIA ออกมาทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแทบจะยังไม่มีความความเข้าใจต่อโครงการดังกล่าว” มานพ กล่าวม

จากนั้นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดของตำบลนาคอเรือ 9 คนและผู้ใหญ่บ้านตำบลฮอด 1 คน ได้ร่วมกันลงนามส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงความกังวลใจและต่อผลกระทบจากโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

ในจดหมายถึงนายกฯ ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำภูมิพล แนวผันน้ำยวม และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น

พวกตนในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รู้สึกมีความกังวลต่อผลกระทบของโครงการ โดยแถลงการณ์ได้ระบุข้อเรียกร้องประกอบด้วย

1. เพิกถอน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และยุติการผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล

2. ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยการออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบซึ่งต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศน์ และจะต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาแต่ละอย่าง เพื่อวางแผนจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำปริมาณมหาศาลที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อจัดเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม ลงทุนสร้างระบบจัดเก็บและควบคุมน้ำที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์