ดอน พบ ส.ว.แทมมี หารือความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และ ความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน

ดอน หารือ ส.ว.แทมมี ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ความร่วมมือด้านวัคซีน
จากกรณี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน กระทรวงการต่างประเทศได้ทวีตภาพและข้อความ ระบุว่า นายดอน ยังได้เข้าร่วมหารือกับส.ว.แทมมี ดักเวิร์ธ เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ และ ความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน โดยข้อความระบุว่า

“รนรม./รมว. กต. ดอน หารือ ส.ว. แทมมี ดักเวิร์ธ ส่งเสริม คสพ. ไทย-สหรัฐฯ ครม. ด้านวัคซีนโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา ศก. BCG ห่วงโซ่อุปทาน CPTPP และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี 2565”

ต่อมากรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ออกข่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณส.ว.แทมมี ต่อบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่ไทยและสหรัฐให้ความสำคัญร่วมกัน รวมถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายดอนได้กล่าวถึงบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ก็จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนายดอนได้ขอบคุณส.ว.แทมมีที่ได้ช่วยผลักดันวัคซีน 1 ล้านโดสที่สหรัฐจะให้กับไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่ฝ่ายสหรัฐได้เชิญประชุมคณะทำงานไทย-สหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการกดปุ่มเริ่มต้นกระบวนการส่งมอบวัคซีน 1 ล้านโดสดังกล่าว

สองฝ่ายยังได้หารือกันถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการเสริมสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าเสรี ซึ่งรวมถึงข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และแนวคิดเรื่องความตกลงเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (The Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) ด้วย