สรุปดราม่า งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา ฝุ่นตลบแถลงหนุน-ค้าน สู่แฮชแท็ก #มหาลัยธรรมทาส

เหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ ชื่อทางการที่ถูกพูดถึงมากขึ้น หรือรู้จักในชื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ถึงตอนนี้ยังมีเรื่องราวที่ต้องปะติดปะต่อ ท่ามกลางความพยายาม “ลบ” ความทรงจำหรือไม่ให้ถูกพูดถึง เพราะด้วยสิ่งที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยรัฐ และนั้นหมายถึงเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐ และทุกคนที่มีส่วนทั้งโดยตรงและอ้อมต่อเหตุโศกนาฏกรรมที่โหดร้ายเกินที่มนุษย์จะจินตนาการ

จนมาปีนี้ก็ครบรอบ 45 ปี แนวโน้มของการศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์อันโหดร้ายได้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของคนหนุ่มสาวในปี 2563 ที่ส่งเสียงท้าทายให้มีการเปลี่ยนแปลงลึกถึงโครงสร้างอำนาจรัฐที่สร้างสะเทือนกับผู้ยึดมั่นในแนวคิดจารีตนิยม และเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รับรู้ในคนรุ่นใหม่นั้น ก็รับรู้ชนิดสืบสาวลึกถึงผู้เกี่ยวข้องมากมายที่ไม่ยอมให้ถูกเอ่ยถึงด้วย และการจัดงานรำลึกปีที่แล้วก็เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีผู้เข้าร่วมชมงานนิทรรศการที่ใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมมาใช้กันอย่างเนืองแน่น

แต่แล้วปีนี้ การจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา กลับเจอการปิดกั้นไม่ให้ใช้สถานที่คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ซึ่งเกิดเหตุหลั่งเลือดครั้งนั้นจัดงาน

จุดเริ่มต้นมาจากการเปิดเผยของกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือรู้จักในชื่อ ทนายด่าง ทนายความสิทธิมนุษยชนและอดีตนักศึกษานิติศาสตร์ที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้กล่าวเมื่อ 21 กันยายน ที่ผ่านมาว่า

#คณะทำงานการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 มีความเห็นยืนยันที่จะจัดงานรำลึก ที #มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหมือนที่เคยทำมาทุกปี หลังจากที่ผู้บริหารมธ. มีความเห็นให้เป็นการจัดงานแบบออนไลน์โดยอ้างถึงสถานการณ์โควิด

ทนายด่าง เป็นตัวแทนของคณะทำงานจัดงาน 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็น #องค์ปาฐกของของประจำปีนี้ แถลงปฏิเสธการบันทึกวิดีโอในฐานะองค์ปาฐกของงาน เพื่อเป็นการประท้วงต่อมธ.จะให้เป็นการจัดงานแบบออนไลน์ โดยเป็นการบันทึกรายการล่วงหน้า เช้า 20 กันยายนที่ผ่านมา

ทนายด่างกล่าวว่า เสียใจที่ มธ.จะให้จัดทางออนไลน์ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย จึงได้ประท้วงด้วยการปฏิเสธที่จะพูดเพื่อบันทึกวิดีโอล่วงหน้า แต่จะขอไปพูดในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เลย เพราะรู้สึกว่าเป็นตราบาป ซึ่งไม่ใช่เป็นของผู้บริหาร แต่เป็นตราบาปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานรำลึก 6 ตุลาคม จัดมาตั้งแต่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2520 เป็นประจำทุกปี ฉะนั้นตนขอเชิญชวน ถ้าใครอยากจะรำลึกในสถานที่จริง และเหตุการณ์จริง แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นในทุกแบบ วันที่ 6 ตุลานี้เราเจอกัน เราจะเจอกันอย่างแน่นอน และเราจะทำเท่าที่เราทำได้

ที่มา เพจ 45 ปี 6 ตุลา

แต่ก่่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 กันยายน สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์เพื่อประชาธิปไตย โดยปีนี้ผู้ได้รับรางวัลคือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฎรที่ยังถูกขังระหว่างพิจารณาคดีจากคดีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้มารดาของพริษฐ์ต้องมารับรางวัลแทน

อย่างไรก็ตาม นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินเจ้าของรางวัลศรีบูรพา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ให้นักข่าวเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัย​ จึงต้องใช้วิธีการตั้งกล้องถ่ายภาพการบันทึกเทปจากด้านหน้าหอประชุมใหญ่

ส่วนฝ่ายจัดพิธีมอบรางวัล ต้องนำป้ายที่เตรียมไว้มาตั้งด้านหน้าให้ตรงกับประตูทางเข้า​ เพื่อให้นักข่าวสามารถถ่ายภาพการมอบรางวัลได้

ซึ่งก็ไม่มีคำอธิบายจากทางมหาวิทยาลัยว่าทำไมถึงห้ามไม่ให้นักข่าวเข้าทำข่าวการมอบรางวัล

นี่คือจุดเริ่มแรกที่ทำให้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกหนังสือถึงกองบริหารศูนย์พระจันทร์ให้ความกระจ่างเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน และขอให้ทางมหาวิทยาลัยให้ความกระจ่างภายในวันที่ 27 กันยายน ล่าสุดก็ยังไม่มีท่าทีใดๆออกมาจากทางมหาวิทยาลัย

ทำให้ต่อมาสภานักศึกษามธ.พร้อมด้วยองค์การนักศึกษา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดงานรำลึกภายในมหาวิทยาลัย

แต่ก็กลายเป็นประเด็นดราม่า เพราะต่อมา (27 กันยายน) มีการออกแถลงการณ์ร่วมขององค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการนักศึกษาของคณะ/วิทยาลัย/หลักสูตร/สถาบัน ร่วม 27 แห่งมีมติ ไม่เข้าร่วมแถลงการณ์ร่วมสภานักศึกษามธ.ในการเรียกร้องอนุมัติสถานที่จัดงานรำลึก โดยให้เหตุผลว่า มาตรการสาธารณสุขยังไม่รัดกุมพอ การขาดการอ้างอิงในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานที่จะกระทบกับผู้จัดและผู้ร่วมงาน โดยชี้ด้วยความกังวลว่า รัฐบาลมักใช้อำนาจรัฐด้วยความไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ และยังไม่ได้ข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัย

ทว่าไม่นาน แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งต่ออมธ.และคกก.นักศึกษาคณะต่างๆ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงประโยคเช่น “นักศึกษาต่อสู้เพื่อปชต.แต่มหาลัยรับใช้เผด็จการ”, “เหตุเกิดขึ้นกับนักศึกษามหาลัยตัวเอง แต่ทำไมมหาลัยถึงไม่อยากรำลึก” ทั้งโซเชียลและทวิตเตอร์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ถึงกับติดแฮชแท็ก #มหาลัยธรรมทาส ขึ้นมา ที่มีการออกมาวิจารณ์คำแถลงของอมธ.และคกก.นักศึกษาคณะต่างๆ อย่างดุเดือด และโพสต์คำแถลงของแต่ละที่ที่เผยแพร่ออกมาว่า ที่ไหนแย่สุดและย่ำยีผู้สูญเสียมากที่สุด

คำแถลงบางส่วนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยตั้งคำถามถึงความรู้ความเข้าใจถึงคำว่า “การเมือง” จนขอให้ไปเรียนใหม่

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการนักศึกษาคณะหนึ่ง ถึงขั้นขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกยกชุด

รวมถึงเกิดแคมเปญคัดค้านแถลงการณ์ร่วมของอมธ.ขึ้นใน Change.org

ประเด็นดราม่าได้ดังข้ามไปถึงสถานศึกษาดังแถวสามย่านอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยองค์กรสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์สนับสนุนแถลงการณ์ของสภานักศึกษามธ.

ล่าสุด สำนักโฆษกประจำองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อคำแถลงการณ์ร่วมที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โดยระบุว่า

1. การแถลงการณ์ฯ ฉบับนี้ขอยืนยันว่ามิใช่การไม่สนับสนุนการจัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2564 หากแต่เป็นข้อกังวลในส่วนของมาตรการการจัดกิจกรรมในด้านสุขภาพและกฎหมายที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น

2. มติการเข้าร่วมแถลงการณ์ฯ ได้ยึดตามข้อมูลที่ได้รับทราบจากในที่ประชุมร่วมระหว่างสภานักศึกษาฯ อมธ. และคณะกรรมการนักศึกษาฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 ผ่านทาง Google Meet ซึ่งข้อมูลที่ได้รับทราบหนึ่งในนั้น คือ ร่างแถลงการณ์ ที่ถือว่าเป็นใจความสำคัญของการประชุม ในที่ประชุมจึงมีการสอบถามถึงมาตรการการจัดงานต่าง ๆ โดยให้เพิ่มเข้าไปในแถลงการณ์เรียกร้องฉบับของสภานักศึกษาฯ ด้วย หากแต่ทางผู้จัดยังมิได้มีการแจ้งมาตรการต่าง ๆ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมา

3. หลังจากแถลงการณ์ฯ ฉบับนี้ได้เผยแพร่ลงไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 21.00 น. ผ่านทางเพจองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางผู้จัดได้ส่งมาตรการต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2564 อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นรูปธรรมมายังคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา (อมธ.) และคณะกรรมการนักศึกษา 27 คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/หลักสูตร เมื่อเวลา 27 กันยายน 2564 เวลา 22.20 น. เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้พิจารณา

ดังนั้น เราจึงยืนยันที่จะพิจารณาข้อมูลมาตรการในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จากทางผู้จัดที่ได้นำส่งมาในส่วนนี้ตามย่อหน้าสุดท้ายในแถลงการณ์ฯ ที่ว่า “หากทางผู้จัดได้มีการวางแผนและมาตรการที่รัดกุมและเป็นรูปธรรมมากขึ้นและเพียงพอต่อการป้องกันผลกระทบทั้งในส่วนของทางด้านสุขภาพและทางด้านกฎหมาย ทางคณะกรรมการบริหาร อมธ. และคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 27 คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/หลักสูตร ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อไป” อย่างแน่นอน