ประยุทธ์อยู่(ไม่)ยาว? : ‘ไพบูลย์’ ไร้ความเห็น นายกฯห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี นักวิชาการแนะวางมือ

‘ไพบูลย์’ ปัดให้ความเห็น ปมนายกฯห้ามเกินดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ชี้ เป็นเรื่องของศาลวินิจฉัย นักวิชาการ เชื่อเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นนายกต่อได้แค่ปีเศษๆ ถามพรรคไหนจะเสนอให้เป็นต่อไปอีก แนะวางมือ อย่าดึงดัน

วันที่ 26 กันยายน 2564 กลายเป็นประเด็นเมื่อนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมาชี้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำก่อการรัฐประหาร คสช.ในปี 2557 จะหมดสิทธิ์อยู่ยาวตามที่ฝัน หลังยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ผู้ใดอยู่รวมกันได้ไม่เกิน 8 ปี โดยพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 รวมกับกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 จนถึงตอนนี้ก็อยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาลมาแล้ว 7 ปีเศษนั้น

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านยกมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” หากนับการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 จะครบ 8 ปี ในปี 2565 ว่า เพิ่งได้รับทราบปัญหาข้อกฎหมายเรื่องนี้จากข่าว จึงได้ไปพิจารณาข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกำหนดยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้นับตั้งแต่เมื่อไหร่ ดังนั้นเมื่อไม่เขียนไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องใช้วิธีการตีความพิจารณา รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 158 วรรคสี่ นายกจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี มาตรา 170 เหตุให้รัฐมนตรีสิ้นสุดลงก็จะมีวรรค 2 คือนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบ 8 ปี และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ซึ่งให้คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งก็มีสาระของมาตรา 264 ที่ยกเว้นมาตรา 170 ไว้บางข้อต้องนำมาพิจารณาประกอบกับ เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่

“เนื่องจากในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตรงส่วนบทเฉพาะกาลไม่ได้เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าจะให้นับตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงต้องตีความเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญประกอบด้วย แต่ในส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้าน ดร.บุญส่ง ชเลธร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “8 ปีในตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีเนื้อหาระบุว่า

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 ย่อหน้า 4 บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้” ก็จึงมีวันที่จะนำมาพิจารณา นับเป็นวันเริ่มต้นความเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ 3 วัน

วันแรก 24 ส.ค.2557 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ครั้งแรก หลังการรัฐประหาร
วันที่สอง 6 เม.ย. 2560 เป็นวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ 2560
วันที่สาม 9 มิ.ย. 2562 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ครั้งสอง หลังการเลือกตั้ง

ถ้าเริ่มวันแรก พล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 คือจะอยู่ไปได้ไม่เกิน ส.ค.ปีหน้า ก็ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ แต่การนับแบบนี้ เป็นการใช้กฎหมายให้มีผลบังคับย้อนหลัง คือเอาเนื้อความในรัฐธรรมนูญที่เพิ่งออกในปี 2560 กลับไปบังคับใช้เรื่องที่เกิดในปี 2557 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ถ้าเริ่มนับจากวันที่สอง สิทธิในการเป็นนายกฯ ตามกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดในวันที่ 5 เม.ย. 2568
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไปจนครบวาระจากการเลือกตั้ง ในวันที่ 8 มิ.ย.2566 แล้วจัดการเลือกตั้ง และเผอิญว่าท่านได้เป็นนายกฯ อีก ในวาระ 4 ปีของรัฐบาล ท่านจะอยู่ได้อีกเพียงปีเศษๆ เท่านั้น พรรคที่สนับสนุนท่านจะไม่คิดเลยหรือครับ ว่าเลือกรัฐบาล 4 ปี แต่ตัวนายกฯอยู่ได้แค่ปีเดียว

ถ้าเริ่มนับจากวันที่สาม พล.อ.ประยุทธ์จะมีสิทธิตามกฎหมายอยู่ยาวไปจนถึง 8 มิ.ย. 2570

อันนี้เริ่มมีการพูดถึงกันแล้ว โดยข้ออ้างว่าไม่นับการเป็นนายกฯ ครั้งแรก เพราะมาจากการรัฐประหาร ไม่ใช่เลือกตั้ง
บางส่วนพยายามอ้างบทเฉพาะกาล ม.263 และ ม. 264

บทเฉพาะกาล ม. 263 บัญญัติว่า ถ้ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด “ห้าม” มิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง “มิให้” นำมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ตามมาตรา 264″

ดู ม. 264 ต่อครับ
บัญญัติว่า “ให้ คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป”
ส่วนถ้ามีบทบัญญัติใดเป็นข้อ “ห้าม”ไม่ให้เป็นรัฐมนตรีทั้งหลาย ให้นำไปเริ่มใช้กับคณะรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งทั่วไป (ตั้งแต่เลือกตั้ง 2562)

ถ้าตีความว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์
เริ่มตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ สมัยที่สอง คือ 9 มิ.ย.2562 แล้ว
ผมเห็นว่าเป็นการตีความที่ “ไม่” ตรงต่อบทบัญญัติใน รธน.

อันดับแรก
เมื่อประกาศใช้ รธน. ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย รธน. ตั้งแต่วันแรกที่ประกาศใช้
พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในวันนั้น
ก็ต้องนับเป็นวันที่ 1ของสิทธิในการเป็นได้ของช่วงเวลาแปดปี

สอง
บทเฉพาะกาลมักเขียนข้อยกเว้นไว้
ถ้าต้องการให้นับเวลาวันแรกของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่โปรดเกล้าฯ หลังการเลือกตั้ง
แต่นี่ไม่ได้เขียน ไม่มีบัญญัติไว้
รธน. บอกเพียงว่าคนเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีมิได้
ไม่มีตอนใดที่เขียนว่า ให้นับเฉพาะกับคนเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง
ไม่นับคนที่มาจากการรัฐประหาร
เพราะฉะนั้นจะมีที่มาอย่างไร ก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกัน

สาม
บทเฉพาะกาล 263 และ 264 พูดเรื่องคุณสมบัติอันเป็นข้อ “ห้าม” มิให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้ามีใครที่ได้รับตำแหน่งมาในช่วงรัฐประหาร แล้วเกิดมีคุณลักษณะอันเป็นข้อห้ามไม่ให้เป็นตาม รธน.ฉบับใหม่นี้
ก็ไม่ให้เอามาใช้บังคับ

ข้อเท็จจริงก็คือ คณะรัฐมนตรีทุกคนก็คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามปกติ
ไม่มีใครอ้างว่าใครมีปัญหาอะไร ไม่เหมาะสมอย่างไร จนต้องใช้บทเฉพาะกาลมาคุ้มครอง

ผมจึงเห็นว่า ต้องนับวาระตาม รธน.ของพล.อ.ประยุทธ์ตามเวลาในวันที่สอง
หมายความว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เกินกว่าวันที่ 5 เม.ย.2568 ไม่ได้

ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่ไปจนครบวาระ หรือยุบสภา เลือกตั้งใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีสิทธิเป็นนายกฯ ต่อไปอีกแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น

ดังนั้น เดินตามแนวทางพล.อ.เปรม ไม่ดีกว่าหรือครับ
บอกว่า “ผมพอแล้ว” และล้างมือในอ่างทองคำ
กลับบ้านไปเลี้ยงหลานจะเป็นสิ่งที่ดีกับตัวท่าน
และเป็นคุณต่อแผ่นดิน มากกว่าที่จะดึงดันเป็นนายกฯ ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง