ราษมัม’ ยื่น 2 ข้อ วอน ‘สถานทูตสหรัฐฯ’ จับตารัฐไทยใช้ กม.ละเมิดสิทธิ-ไม่ให้ประกันนักกิจกรรม

ราษมัม’ ยื่น 2 ข้อ วอน ‘สถานทูตสหรัฐฯ’ จับตารัฐไทยใช้ กม.ละเมิดสิทธิ-ไม่ให้ประกันนักกิจกรรม

วันที่ 24 กันยายน 2564 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มราษมัม หรือ ครอบครัวของนักกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดานายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า, นางยุพิน มณีวงศ์ มารดาของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง, น.ส.ฐิติสุดา เฮงวิริยะมั่นคง มารดาของนายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า ราษฎรมูเตลู, นายบุญเรือง แกดำ บิดาของนายธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย และนายสนั่น นำภา บิดาของนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นจดหมายใน 2 ประเด็น คือ 1. เรียกร้องสิทธิการประกันตัว 2. เชิญตัวแทนสถานทูตนานาประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล และติดตามผลการพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรานงานว่า รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย

นางพริ้ม มารดาของ นายจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้เป็นตัวแทนในการยื่นจดหมายต่อตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา บริเวณหน้าประตูรั้ว

นางพริ้ม กล่าวว่า เรามีกติกาสากลระหว่างประเทศ กติกาเรื่องสิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางการเมือง จึงอยากให้ปฏิบัติได้จริงตามกติกาที่เรามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง จึงอยากให้ความสำคัญเรื่องนี้กับประเทศไทยด้วย ที่เด็กถูกกระทำในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการประกันตัว หรือการแจ้งข้อกล่าวหา” นางพริ้มกล่าว

โดย ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย รับเรื่องไว้

ต่อมา นางพริ้มได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ว่า ประเทศไทยมีสนธิสัญญา เป็นกติการะหว่างประเทศ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เรามายื่นหนังสือเพื่อให้สถานทูตไปสังเกตการณ์ในคดีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมกับนักกิจกรรม หรือคนที่เห็นต่าง เพราะว่าช่วงนี้มีการใช้กฎหมายเหล่านี้จำนวนมาก และเพิ่มขี้นเรื่อยๆ

“การที่สืบทอดอำนาจมาเป็นเวลา 7-8 ปี ทำให้สิทธิพลเมืองต่างๆ ของประชาชนและของนักกิจกรรมถดถอยไป เราอยากจะให้สถานทูตมีการสังเกตการณ์ ไม่ควรปล่อยให้รัฐเผด็จการทำกับนักกิจกรรมเหล่านี้ และขอความเป็นธรรมว่า การละเมิดกติกาหรือการจำกัดสิทธิมนุษยชนของนักกิจกรรม หรือนักศึกษา แม้กระทั่งเยาวชน 17 ปี มีการแจ้งข้อกล่าวหาทำให้ผู้ที่แสดงออกทางความคิดได้รับผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย ตอนนี้แม้แต่เด็ก 15 ปีก็โดนแจ้งความ ในเมื่อเขาใช้สิทธิในการที่จะคิด เพื่อสร้างสรรค์ให้ประเทศชาติมีความน่าอยู่ ระหว่างวัยรุ่น กับคนมีอายุ มันต้องพัฒนาไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคนมีอายุเห็นว่าตัวเองมีอำนาจ และใช้อำนาจกดขี่เยาวชนเพื่อไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่เห็นต่างจากพวกคุณ คุณไม่มีสิทธิที่จะไปจำกัดความคิดเห็น

เราจึงมาบอกว่า คดีทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สร้างปัญหาให้กับเด็ก มันไม่ควรจะเกิดขึ้น มันควรจะมีความสมดุล การเจรจา การพูดคุยเพื่อจะให้ประเทศเราพัฒนาไปด้วยกัน เพื่อจะมีสังคมที่สงบสุข ในเมื่อบอกว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ คำพูดสวยหรู ในขณะที่การกระทำที่เอาเด็กเข้าเรือนจำทุกวันและไม่ให้ประกันตัว” นางพริ้มกล่าว

ด้านนางยุพิน มารดา ของนายภาณุพงศ์ หรือ “ไมค์ ระยอง” เปิดเผยความรู้สึก หลังจากวานนี้ (23 ก.ย.) บุตรชายถูกจับกุมในคดี ม.112 อีกครั้ง ว่า ก็ตกใจนิดหน่อย เพราะกะทันหัน

“เราไม่รู้ตัว ไมค์ก็ไม่รู้ตัว ทนายก็ยังไม่รู้ว่าจะโดนสั่งฟ้องเมื่อวาน แต่แม่ก็คาดการณ์กันไว้แล้วว่า น่าจะต้องโดนอีก แต่ว่าจะเอาคดีไหนมาเล่นงานเท่านั้น ดูๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นการที่ไมค์หรือทุกๆ คนทำผิดกฎหมายถึงขั้นมีคนตาย หรืออะไร แม่คิดว่า ออกมาในลักษณะเป็นกฎหมายปิดปากมากกว่า ไม่ต้องพูด ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องเห็น ประมาณนั้น ได้ออกมาแค่ 7-8 วัน ก็เอาเข้าไปเช่นเดิม ก็สู้กันต่อ” นางยุพินกล่าว