‘ธัญวัจน์’ ซัดปลอมเปลือก! แคมเปญ “หยุดขายเสียงฯ” ชี้ปชช.ดูออกอันไหน “ละคร-ของจริง”

‘ธัญวัจน์’ มอง แคมเปญ ‘หยุดขายเสียง จุดเปลี่ยนประเทศไทย’  สะท้อนความปลอมเปลือก ชี้ ประชาชนและสังคมมองออกอันไหนของจริงหรือบทละคร

วันที่ 22 กันยายน 2564 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของกองทัพบก ออกแคมเปญ “หยุดขายเสียง จุดเปลี่ยนประเทศ” โดยใช้ดารานักแสดงหลากหลายเพนท์ข้อความสีบนมือ หลังจากนั้นสื่อโซเชียลมีเดียได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสื่อสารดังกล่าว “เปลือก” และ “ปลอม” บ้างก็มีการแสดงความเห็นว่า ดาราโดนบังคับ จากต้นสังกัดบ้าง โดนใบสั่งบ้างความจริงจะเป็นเช่นไร ธัญวัจน์ระบุว่าตนคงไม่สามารถพูดได้และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายเพราะเป็นเรื่องการบริหารงานภายใน แต่ผลงานที่ออกมาสู่สายตาประชาชนพูดได้ว่า “ไม่เป็นไปตามเป้า” ของแคมเปญ ที่ร้ายไปกว่านั้นคือกระแสตีกลับส่งผลลบในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

แต่เมื่อพิจารณาโครงการดังกล่าวแล้ว อดคิดถึงวลีที่ว่า“ดอกไม้ไม่งอกที่ปลายกระบอกปืน” และต้องพิจารณากันถึงที่มาว่า เจ้าของสัมปทานช่องดังกล่าวเป็นของ “กองทัพบก” ที่ บริษัทสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ มาทำสัญญาสัมปทาน ส่วนด้านดารานักแสดงก็เป็นดาราที่อยู่ในสังกัดที่ได้รับการป้อนงานแสดงต่างๆตลอดในสัญญา กล่าวมาถึงตรงนี้เราก็คงเข้าใจคำว่า “ที่มา” นั้นหมายถึงอะไรจึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ปลอม” และ “เปลือก”

ส่วนเรื่องของสิทธิพลเมืองเป็นสิทธิที่ติดตัวจะไม่มีใครพรากไปได้ ดังนั้นการแสดงออกทางการเมืองเป็นความชอบธรรมที่ใครพรากไปไม่ได้เช่นกัน แต่การ “ออกคำสั่ง” หรือ “การจ้าง” ให้คนดังออกมาพูดเรื่องสิทธิพลเมือง ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ “ตลกร้าย” เพราะเรามีคนดังดาราหลายท่านออกมาพูดเรื่อง “สิทธิ” ออกมา “Call Out” ด้วยอุดมการณ์ ด้วยแรงผลักดันของตัวตน ในหลายประเด็นหลายแง่มุม แต่ผลลัพท์ต้องแลกคือหน้าที่ความก้าวหน้าในการงาน แต่ในทางกลับกันเราก็มีดารานักแสดงอีกกลุ่มออกมาพูดเรื่องการเมืองด้วยการปั้นแต่งตามบทบาทที่นายจ้างกำหนดกลับมีงานแสดง มีโอกาสในการเติบโต

นอกจากนี้ธัญวัจน์ระบุว่า สุดท้ายแล้วสังคมขณะนี้เดินหน้าไปไกลมากแล้ว ประชาชนมีส่วนร่วมกับสื่อและย่อมมีสิทธิ์วิจารณญาณรู้ว่าอะไรคือ “จริง” อะไรคือ “โดนสั่ง” วันนี้ประชาชนตื่นรู้ทางการเมืองมาก เพราะที่ผ่านมา “Solf Power” วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่สอดแทรกซึมในสื่อแวดวงต่าง ๆ ที่เราทุกคน “ตกเป็นเหยื่อ” งมงายอยู่ใน “ความสุข” ที่รัฐมอบให้ที่เป็นเหมือนยาชาให้เราไม่รู้สึกรู้สา และอยู่ในอำนาจและความรุนแรงในทุกมิติด้วยความยินยอม ส่งผลทางตรงต่อการพัฒนาการเมือง

“ตนอยากฝากว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวันนี้คือความก้าวหน้าทางความคิด ที่ผู้มีอำนาจยังไปไม่ถึงและยังคงใช้ยังใช้ลูกไม้เดิมที่ตื้นเขิน” ธัญวัจน์ ระบุ