“หญิงหน่อย” ชี้จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่ต้องมีประสิทธิภาพ จี้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินเอื้อท่องเที่ยว-ลงทุน

วันที่ 21 กันยายน 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเพื่อรัฐบาลสามารถกู้เงินเพิ่ม โดยอ้างเพื่อใช้ฟื้นฟูจากวิกฤตโคิดว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDP จากเดิมไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 นั้น

ดิฉันเห็นว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ของประเทศจากการแพร่ระบาด ของโควิด-19

“แต่ที่สำคัญ ต้องมีแผนการใช้เงินจากการกู้ยืมเพิ่มดังกล่าว ให้เกิดประสิทธิผล และเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด สามารถสร้างกำลังซื้อให้กลับคืนมาอย่างแท้จริง มิใช่การหว่านแจกเงินแบบโปรยทานที่ไร้ประสิทธิภาพ”

รัฐบาลจึงควรดำเนินการ ดังนี้

(1) นำไปใช้ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน อย่างเพียงพอที่จะทำให้เกิดกำลังซื้ออย่างมีนัยสำคัญ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน

(2) เยียวยาธุรกิจSMEs ที่ได้รับผลกระทบ ขาดรายได้ จากมาตราการของรัฐ พร้อมสนับสนุนเงินทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีทุนเพียงพอ ที่จะกลับมาประกอบการค้าได้ใหม่ได้

(3) ยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือกจะเริ่มออกสู่ตลาด จึงต้องเร่งยกระดับราคา เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้ประชาชน และธุรกิจต่างๆฟื้นตัวได้ รวมทั้งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDP ลดลงเพื่อให้อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดไว้เดิมคือไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งมีความเหมาะสมกับฐานะทางการคลังของประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการ “ยกเลิก” การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคภายใน อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่ปกติของประเทศอันเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยเฉพาะจากนี้จะเป็นช่วง High Season ของฤดูการท่องเที่ยว ของทั้งคนไทยและต่างประเทศ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลจะเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น