‘ยิ่งชีพ’ ย้อน 16 ปี การเมืองไทย แนะประท้วงให้ถูกจุด มุ่งปลุกสำนึก ‘กลไกในระบบ’

‘ยิ่งชีพ’ ย้อน 16 ปี การเมืองไทย แนะประท้วงให้ถูกจุด มุ่งปลุกสำนึก ‘กลไกในระบบ’

วันที่ 21 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้โพสต์ข้อความถึงการต่อสู้ทางการเมือง ความว่า

การประท้วงของเสื้อเหลือง ในปี 2548-2549 จบลงด้วยการรัฐประหาร
การประท้วงของเสื้อเหลือง ในปี 2551-2552 จบลงด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรครัฐบาล และกลุ่มเนวินย้ายข้าง
การประท้วงของเสื้อแดง ในปี 2552-2553 จบลงด้วยการล้อมปราบด้วยกำลังทหาร
การประท้วงของ กปปส. ในปี 2556-2557 จบลงด้วยการรัฐประหาร

16 ปีที่การเมืองไม่เคยสงบและกลับเป็นปกตินี้ การชุมนุมใหญ่ไม่เคยนำไปสู่ผลลัพธ์ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิแรงงาน ราคาพืชผล ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา ฯลฯ ก็ไม่มีครั้งที่ชุมนุมเสร็จแล้วผู้มีอำนาจหันมาเห็นปัญหา เห็นข้ออ่อนของตัวเองที่ผ่านมา จึงออกคำสั่งให้ตามที่มีคนมาเรียกร้อง

บรรยากาศบ้านเมืองทำให้คนถืออำนาจปฏิบัติต่อๆ กันว่า จะตอบสนองต่อการชุมนุมโดยการยอมให้ตามข้อเรียกร้องเลยไม่ได้ เพราะกลัวคนอื่นได้ใจแล้วเอาอย่าง แม้บางทีเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแล้ว แต่ก็ต้องทำเป็นแกล้งๆ ให้ภายหลัง ไม่อาจให้ทันทีได้ ส่วนถ้าข้อเรียกร้องจะทำให้เสียอำนาจ ก็เคยชินกับการปล่อยให้ประท้วงไปเรื่อยๆ หวังให้คนประท้วงหมดแรงเอง

การประท้วงที่นำโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในปี 2563 – 2564 ยังไม่จบ แต่มันไม่จบด้วยการออกมายอมแพ้ของคนมีอำนาจ ประกาศลาออก และคืนอำนาจให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่กันได้ง่ายๆ แน่ๆ ที่ผ่านมามันต้องอาศัยกลไกอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง

แต่ยกนี้ผู้ประท้วงไม่ได้ร่วมจับมือกับอำนาจนอกระบบใดๆ ที่จะมาช่วยได้ จึงไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากระหว่างประท้วงไปเรื่อยๆ ก็ต้องหวังให้กลไกในระบบมันลุกขึ้นมามีจิตสำนึกแล้วทำงานด้วยตัวมันเอง การจะปลุกจิตสำนึกได้ การประท้วงก็ต้องมุ่งเป้าไปให้ถูกจุดของกลไกเหล่านั้น ถ้าคิดว่าคาดหวังไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปยึดมา ถ้ายึดในวันสองวันไม่ได้เพราะกติกาที่เขาเขียนมันขวางอยู่ ก็ต้องยึดให้ได้ในวันใดวันหนึ่ง