เปิดกรุงเทพปลุกเศรษฐกิจ ห้าง-โรงแรมเด้งรับ 70 ประเทศเข้าไทย

เปิดกรุงเทพปลุกเศรษฐกิจ ห้าง-โรงแรมเด้งรับ 70 ประเทศเข้าไทย

ดันเต็มสูบ “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” คิกออฟ 15 ต.ค. ห้าง โรงแรม ธุรกิจ ร้านค้า ทั่วกรุง 5 หมื่นแห่งรออานิสงส์ เผยนักท่องเที่ยว-นักลงทุนต่างชาติ 70 ประเทศ กว่า 1 แสนคน รอเที่ยวกรุงเทพฯ ลุ้นสร้างรายได้โค้งสุดท้ายปลายปี 2-3 หมื่นล้าน ผู้ว่าฯอัศวินลั่นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข้าเป้าส่งสัญาณเปิดเมือง 8 พ.ย. ชี้ผลตอบรับดีกว่าภูเก็ต กระทุ้งรัฐทำแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวควบคู่การเปิดประเทศ ออกมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจต่อเนื่อง

ไทม์ไลน์เปิดประเทศระยะที่ 2 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสโดยไม่ต้องกักตัว 4 จังหวัด คือ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ 1 ต.ค. 2564 และกรุงเทพมหานคร (กทม.) วันที่ 15 ต.ค. กำลังถูกจับตา

เพราะแม้ภาคธุรกิจต่างคาดหวังแต่ยังต้องลุ้น เพราะหมุดหมายกำหนดไว้ชัดเจนก็จริง แต่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความพร้อมในการคิกออฟ “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” เปิดกรุงเทพฯ เปิดประเทศไทย รับนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ภายใต้เงื่อนไขประชาชนต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส 70% ของจำนวนประชากรใน กทม. และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานครเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ไปร่วมหารือเรื่องการเตรียมความพร้อมเปิดเมือง กทม.รับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ เมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย รมว.การท่องเที่ยวฯต้องการผลักดันให้ กทม.เปิดรับต่างชาติภายใต้โมเดล “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” วันที่ 15 ต.ค.นี้ กทม.อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เวลานี้โรงพยาบาล เตียง ศูนย์พักคอย ฯลฯ มีความพร้อมเต็มที่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่คลี่คลายลง

ขณะเดียวกันก็ได้ประสานองค์กร สมาคมภาคเอกชน อาทิ สมาคมโรงแรม สมาคมภัตตาคาร สมาคมผู้ค้าปลีก สมาคมห้างสรรพสินค้า สมาคมนวดไทยแผนโบราณ สมาคมเรือไทย เป็นต้น มาประชุมหารือเตรียมเปิดเมืองรับต่างชาติ ทั้งนี้ ปลายเดือนนี้จะจัดประชุมตัวแทนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจกฎกติกา มาตรการด้านสาธารณสุข และเชิญผู้แทน จ.ภูเก็ต มาชี้แจงและถอดบทเรียน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

อานิสงส์ธุรกิจ-5 หมื่นร้านค้า

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการเปิดเมือง กทม.จะเปิดพร้อมกับทั้ง 50 เขต จากการประเมินพบว่า ธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานประกอบการ รวมแล้ว 40,000-50,00 แห่ง จะได้รับอานิสงส์กลับมาเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวทั้งไทย-ต่างชาติ จากที่ผ่านมาไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ หรือบางส่วนเปิดให้บริการได้ แต่ยอดขายรายได้ตกต่ำลงมาก

70 ประเทศรอเข้าไทย

ทั้งนี้ จากที่ได้หารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ล่าสุด ททท.แจ้งว่า ได้รับการประสานจากตัวแทนภาคท่องเที่ยวในต่างประเทศว่า หากมีการเปิดเมือง คิกออฟ “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” อย่างเป็นทางการ มีนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างประเทศจากกว่า 70 ประเทศ รวมแล้วกว่า 100,000 คน ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจใน กทม. ส่วนหนึ่งมาจากกรุงเทพฯยังเป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังได้รับการจัดอันดับ เป็นอันดับที่ 1 Workation Index ประจำปี 2021 เป็นเมืองที่ดีที่สุดในการทำงานและการพักผ่อน

รอ ศบค.ไฟเขียว 15 ต.ค.

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ถึงความชัดเจนของการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงกรุงเทพมหานคร ในเดือนตุลาคมนี้ว่า “มีการรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้หารือร่วมกับ กทม. และมีการเสนอแผนว่าจะมีการจัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว กทม.แซนด์บอกซ์ เรื่องนี้ ศบค.ชุดเล็กได้รับทราบ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นมติที่อนุมัติในเรื่องของ กทม.แซนด์บอกซ์ 15 ตุลาคม”

“เพราะการเสนอแผนจะต้องทำเป็นขั้นตอน มีการหารือพื้นที่ มีการหารือร่วมกัน และจำเป็นจะต้องเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการตรวจสอบในเรื่องมาตรการอย่างรอบคอบ ประณีต รัดกุม เพราะ กทม.เป็นพื้นที่ใหญ่ มีความหลากหลาย จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด และเมื่อสาธารณสุขได้พิจาณาแล้ว จะมีการหารือร่วมกับ ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก และต้องมีการเสนอผ่านการอนุมัติจาก ศบค.ชุดใหญ่”

ลุ้นสร้างรายได้ 3 หมื่นล้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ภาครัฐทยอยเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เปิดเมืองกรุงเทพฯ ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นการดีที่เรียกความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้ เพิ่มความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ต้องมีมาตรการรองรับชัดเจน ไม่ให้การระบาดกลับมารุนแรง

คาดว่าการเปิดกรุงเทพฯตั้งแต่ 15 ต.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ 100,000-150,000 คนต่อเดือน หรือ 3-5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ ในช่วงปกติที่ไม่มีโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านคนต่อเดือน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ว่า โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละคนจะใช้เวลาท่องเที่ยว 8-10 วันต่อทริป ค่าใช้จ่ายต่อหัว 50,000 บาท การเปิดกรุงเทพฯนี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค. 64) หรือในช่วง 2 เดือนครึ่ง 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี’64 อยู่ใกล้กรอบ 1%

ธุรกิจปรับแผนรับ

ตอนนี้ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯต่างเตรียมการรองรับการเปิดกรุงเทพฯ ตามมาตรการภาครัฐ หลังจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้มานาน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนอาจยังรอดูสถานการณ์ว่า สุดท้ายทางรัฐบาลจะมีมาตรการเพิ่มเติม และแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามีมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินว่าคุ้มค่าต่อการเปิดดำเนินกิจการหรือไม่ เพราะหากจะต้องเปิดดำเนินการ แปลว่าต้อง run ระบบทั้งหมด ต้องเรียกแรงงานที่เดินทางกลับต่างจังหวัดกลับมาทำงาน พร้อมเตรียมเรื่องมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนั้น วัตถุดิบที่ใช้ประกอบการต่าง ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งหมด

เพิ่มมาตรการกระตุ้นโค้งสุดท้าย

นายสนั่นกล่าวว่า การเปิดเมือง การทยอยผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้ ภายใต้มาตรการป้องกันความเสี่ยง ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่ภาคเอกชนได้เสนอเข้าไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เอกชนยังต้องการเสนอให้พิจารณาเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยกลับมาได้ พร้อมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ตรงนี้อยู่ในส่วนที่ต้องเร่งพิจารณา เพราะเราต้องเร่งมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เข้าไปช่วยให้ตรงจุด

“ภาคเอกชนก็มองกันว่า เดือน พ.ย.-ธ.ค. เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ของทั้งประเทศน่าจะมีสัดส่วนที่สูงแล้ว จึงน่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ออกมาส่งเสริมการเดินทางการท่องเที่ยวด้วย”

จี้รัฐมาตรการต้องชัดเจน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวทำนองเดียวกันว่า เห็นด้วยที่จะเปิดประเทศ เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้องเปิด แน่นอนว่าการแพร่ระบาดก็ยังอยู่กับไทยยาวต่อไปถึงปีหน้าแน่นอน แต่สิ่งสำคัญไทยจะต้องวางมาตรการที่ชัดเจนในการปฏิบัติ เพราะที่ผ่านการทดลองเปิดแซนด์บอกซ์ก็ยังมีคำถามจากต่างชาติว่า การเปิดประเทศเป็นอย่างไร มาตรการทางปฏิบัติการเดินทางยังทำได้ยากทั้งสำหรับนักท่องเที่ยว อย่าว่าแต่นักลงทุนเลย เปิดเปรียบเสมือนไม่เปิด

เตือนเปิดประเทศต้องรอบคอบ

ขณะที่แหล่งข่าวจากภาคธุรกิจกล่าวว่า การเปิดกรุงเทพฯเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ เพราะจะเป็นหนทางในการฟื้นเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเปิดประเทศในที่สุด เพียงแต่การจะเปิดหรือผ่อนคลายธุรกิจต่าง ๆ นั้น ต้องทำด้วยความรอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นสำคัญ ค่อย ๆ ขยับไปทีละก้าว ไม่ควรเร่งทำด้วยความรีบร้อน

“เดิมเคยมีการหารือว่า ควรจะเปิด 1 พ.ย. 2564 เพื่อรอให้มีความพร้อมในหลายด้าน แต่นโยบายภาครัฐต้องเดินหน้าตามไทม์ไลน์เปิดประเทศใน 120 วัน ตรงกับวันที่ 15 ต.ค.นี้ ซึ่งถ้าเปิดประเทศ แต่ไม่เปิดกรุงเทพฯก็อาจจะดูแปลก ๆ ดังนั้น นี่จึงอาจจะเป็นแรงกดดันให้ต้องเปิด”

หากตัดสินใจจะเปิดแล้ว นอกจากการที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องมีการควบคุมให้ทำตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น

เร่งเข้ามาตรฐาน SHA+

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับธุรกิจโรงแรมให้ความสนใจและอยากรู้รายละเอียดของแผนที่ชัดเจนเพื่อวางแผนว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร และสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมาตรฐาน SHA+ แล้ว โดยในเบื้องต้นนี้มองว่าการเปิด “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” น่าจะได้รับการตอบรับดีกว่าภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม คาดว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในระยะแรกคงยังไม่มาก และส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นในการเดินทาง และนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศอีก 2 โครงการคือ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ซึ่งก็น่าจะทำให้บรรายกาศการเดินทางท่องเที่ยวในภาพรวมกลับมาได้ระดับหนึ่ง

นางมาริสากล่าวว่า ทั้งนี้นอกจากการเปิดประเทศแล้ว สมาคมต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือและตอบโจทย์เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าและไปต่อกันได้

เปิดประเทศ “เชิงสัญลักษณ์”

ขณะที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศแผนการเปิดประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ ถือเป็นประเด็นที่ดีและเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากแสดงให้เห็นนโยบายที่ชัดเจนของประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลก

โดยในฐานะผู้ประกอบการยังคงยืนยันว่า แผนเปิดประเทศจะสำเร็จได้ยากหากรัฐไม่มีแคมเปญแรง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยกระตุ้น ซึ่งจะทำให้แผนการเปิดประเทศเป็นในเชิงสัญลักษณ์ และทำให้ผู้ประกอบการได้เริ่มเตรียมตัวสำหรับการกลับมาทำธุรกิจกันอีกครั้ง

“ในช่วง 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา การเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์และสมุยพลัสก็ยังไม่ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจมากนัก แต่ได้ในเชิงสัญลักษณ์ หากรัฐบาลต้องการในเชิงเศรษฐกิจน่าจะต้องมาทบทวนและแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรคโดยเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความยุ่งยากในการขอซีโออี ต้องปรับเงื่อนไขการเข้าเมือง หรือลดราคาการตรวจ RT-PCR และ ATK รวมถึงต้องมีแคมเปญสนับสนุนด้วย”

ส.ค้าปลีกแนะเปิด Free Port

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ที่เป็นกลุ่ม wealthy citizen, workation และ long stay เป็นต้น ให้เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ของปีถือเป็นช่วงไฮซีซั่น รัฐบาลควรมีมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยกระดับให้ประเทศไทยเป็น “สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย” เช่น การลดภาษีนำเข้าของสินค้า อาทิ สุรา และไวน์ ที่กำลังพิจารณาอยู่ รวมทั้งควรเพิ่มหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องหนัง เสื้อผ้าแฟชั่น เป็นต้น และยังเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลควรพิจารณาปรับบางจังหวัดให้เป็นจังหวัดปลอดภาษี เช่น Phuket Free Port เพื่อทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

ห้างจัดแคมเปญรับ

นางสาวปิยวรรณ ลีละสมภพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายการคิกออฟโครงการแบงค็อก แซนด์บอกซ์ ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ถือเป็นข่าวดี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก เพราะไตรมาส 4 ถือเป็นช่วงพีกของการช็อปปิ้ง และกรุงเทพฯก็เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว ดังนั้น การเปิดเมือง ต้อนรับขาช็อปชาวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

โดยในส่วนของเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้จัดเตรียมแคมเปญการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายรองรับ ปลุกมู้ดการช็อปปิ้งโค้งสุดท้ายของปี อาทิ แคมเปญ Central Retail Mega Festival #จังหวะนี้ต้องช้อป และโครงการฮักไทย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศด้านการกิน เที่ยว ช็อปสินค้าไทย

ขณะที่นายอมร อมรกุล ผู้จัดการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า การคลายล็อกเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะช่วยปลุกเศรษฐกิจของประเทศให้คึกคักขึ้นมาอีกครั้งในช่วงไฮซีซั่น ในส่วนของเดอะมอลล์จะมีการจัดเตรียมบิ๊กแคมเปญไว้รองรับ เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนงาน

“นักลงทุน” เป้าหมายหลัก

ด้านแหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศไทม์ไลน์เปิดกรุงเทพฯในวันที่ 15 ตุลาคมนั้น เป็นการตอบโจทย์นโยบายเปิดประเทศ 120 วันของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยเป้าหมายใหญ่สำหรับการเปิดประเทศครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว อีกเป้าหมายคือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลมีแผนเตรียมจัดงานเปิดประเทศ หรือ reopen Thailand ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เพื่อประกาศว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนแล้วด้วย

กทม.ยันไม่เคยบอกว่าจะเปิด

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะเปิดเมืองวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพราะการจะเปิดเมืองต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่และการป้องกันโรคก่อน หากเปิดแล้วเกิด super spreader อีก จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ อีกทั้ง กทม.ยังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน กทม.ไม่ถึง 70% ตามเป้าหมายที่วางไว้จะครบ 70% วันที่ 22 ต.ค. 2564 ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการส่งมอบวัคซีนให้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ กทม.มียอดฉีดวัคซีนโดส 2 ไปแล้ว 40%

หากกระทรวงสาธารณสุขเร่งส่งมอบวัคซีนเข้ามา ก็พร้อมฉีดได้ทันที ดังนั้น ควรจะต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้ครบ 70% ก่อน แล้วค่อยมาคิดกันอีกที

“การเปิดกรุงเทพฯแซนบอกซ์ ต้องถามผมสิ ผมมีอำนาจสั่งปิดหรือเปิดเมือง คนที่พูดไม่มีอำนาจ” ผู้ว่าฯอัศวินกล่าว

กทม.เปิดเมือง 8 พ.ย.

ด้าน ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขในการเปิดกรุงเทพฯแซนบอกซ์ นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีเรื่องของการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าเมือง ซึ่งจะต้องหารือกับรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในลำดับถัดไป

“หากฉีดวัคซีนโดส 2 ครบภายในวันที่ 22 ต.ค. ก็จะต้องนับเวลาเฝ้าดูอาการอีกสูงสุด 14 วัน ซึ่งจะไปตกประมาณวันที่ 8 พ.ย. 2564 ซึ่งตามแผนของ กทม. เราแสดงเจตจำนงว่า เมื่อมีประชากรฉีดวัคซีนแล้ว 70% ก็ถือว่ามีความพร้อมในระยะเริ่มต้น แต่ในการจะเปิดเมือง ต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล และ ศบค.พิจารณาร่วมกันอีกที” โฆษก กทม.กล่าว