เลขา ครป. ชี้พิรุธแอบแฝงสัมปทานดาวเทียมไทยคม 5 ข้อ เตรียมจัดเวทีสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวในเวทีทวงคืนสมบัติชาติ ภารกิจเพื่อแผ่นดิน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันนี้ว่า ภายหลังเวทีทวงคืนที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมมย์ วันนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จะร่วมกับสภาที่ 3 และคณะไทยไม่ทน จะจัดเวทีทวงคืนสมบัติแผ่นดินครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า ว่าด้วยเรื่องมหากาพย์ทุจริตแอบแฝงกรณีดาวเทียมไทยคม หลังจากที่สัมปทานดาวเทียมไทยคมสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 นั้น สัญญาสัมปทานระบุว่า ดาวเทียมและอุปกรณ์ทุกชนิด ต้องโอนเป็นของรัฐ เมื่อติดตามมหากาพย์เรื่องนี้จึงถึงบางอ้อ ว่าทำไมนายกฯ ต้องตั้งนายชัยวุฒิ เป็นรมว.ดีเอสดี วันนี้เข้าใจแล้ว เพราะพบข้อพิรุธอย่างน้อย 5 ข้อคือ

1.มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ หลังโหวตไว้วางใจเสร็จ ในการประชุม ครม.วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ได้มีมติเห็นชอบให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ไม่ต่ำกว่า 51% ของหุ้นทั้งหมด และมีมติเห็นชอบให้ผนวกดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ทั้งที่ควรดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ดาวเทียมฯ เป็นกรรมสิทธ์ของรัฐตามสัญญาเดิม

2.แทนที่ดาวเทียมไทยคม จะต้องตกเป็นกรรมสิทธ์ของรัฐตามสัญญาสัมปทาน แต่มติ ครม.คือการฟอกขาวความผิดเป็นถูกในเรื่องที่ค้างอยู่เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ ที่ผ่านมาก็เคยเป็นข้อกังขาว่าทำไมบริษัทของนายสารัช มาซื้อหุ้นใหญ่ของบริษัทอินทัชเพื่อเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคมและสัญญาสัมปทานใหม่นี้อย่างบังเอิญ

3.การอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ที่ผ่านมานั้นเป็นโครงการที่ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลักดังที่ปรากฏจากคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ยื่นประกอบการยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมการลงทุน แต่สัญญาสัมปานดาวเทียมเดิมนั้นเพื่อใช้ภายในประเทศ จึงไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบแห่งสัญญาที่ว่าจะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศเป็นหลัก

4.การอนุมัติดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์นั้นจึงผิดสัญญาสัมปทาน ควรจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ เพราะถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรมทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งคาดว่าจะมีผลประโยชน์เข้ารัฐมากกว่า 16,000 ล้านบาท

5.การผนวกดาวเทียมเข้าไปในสัญญาเก่าโดยมิชอบด้วยกฎหมายนี้ ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหายจากการที่ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ทั้งดวงตามสัญญาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน โดยการกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคมเป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างดาวเทียมไทยคม 3

“มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ยังไม่ยอมนำเข้าระบบสืบค้นอิเลคทรอนิกส์ ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพยายามฟอกความผิดที่ผ่านมาอย่างชัดเจน และอาจผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ครม.ไม่อาจปฏิเสธได้” นายเมธา กล่าว