‘ลุงป้อม เป็นประธานพิธีลงนาม ไทย-ออสเตรเลีย ผนึกหน่วยงานรัฐ ร่วมบริหารจัดการน้ำ

‘ลุงป้อม เป็นประธานพิธีลงนาม ไทย-ออสเตรเลีย ผนึกหน่วยงานรัฐ ร่วมบริหารจัดการน้ำ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ประชาชน

วันที่ 17 ก.ย. 64 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวมอบนโยบายในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ และพิธีมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ พร้อมด้วย H.E. Allan McKinnon เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอาคารประปาวิวัฒน์ การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ โดยการจัดพิธีมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องมีการวางแผนพัฒนาและขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกในยุคปัจจุบัน จำเป็นจะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นพลังในจัดการน้ำร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อสร้างกระบวนการให้มีความเข้มแข็ง ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้กำหนดให้เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ

วันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลงนามความร่วมมือทวิภาคีระหว่าง สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย รวมไปถึงการผนึกกำลังของภาครัฐในการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สทนช. กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำให้ขับเคลื่อนความร่วมมือให้เห็นผลเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่อง และ สทนช. จะต้องหาแนวทางขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่สำคัญ คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำและเยาวชน ซึ่งได้แสดงพลังความคิด มุมมองเชิงประยุกต์ สร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการจัดการน้ำ ในกิจกรรมวันน้ำโลกที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพการเดินไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืนด้านน้ำของประเทศได้ชัดเจนขึ้น จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐขยายผลความร่วมมือและยกระดับการบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันทุกความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขา สทนช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ SDGs เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาคมโลก ซึ่ง ‘น้ำ’ นับว่าเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่เชื่อมโยงและช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SGD ประเด็น อื่น ๆ โดยมี สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดการน้ำ และการสุขาภิบาลที่ยั่งยืนโดยร่วมมือทุกภาคส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านกลไกการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งระหว่างไทยกับออสเตรเลีย

ซึ่งเป็นการยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือ North-South เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในมิติต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล นวัตกรรมเทคโนโลยี และการจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน รวมถึงแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการพื้นที่แล้ง และความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหารของสองประเทศ ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สทนช. และหน่วยงานภาครัฐ 3 หน่วยงาน จาก 2 กระทรวง ได้แก่

1) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ในการเร่งผลักดันงานศึกษาวิจัยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช), สร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช), พัฒนาฐานข้อมูล ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน ให้เป็นสื่อกลางในการขยายองค์ความรู้ไปสู่ภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัยรองรับการบริหารจัดการน้ำ

2) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสวงหาแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเร่งสร้างมาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อิงกับระบบนิเวศ

และ 3) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมาย และขับเคลื่อนผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย

ภายในพิธีลงนามยังมีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมสืบเนื่องจากการจัดงานวันน้ำโลกปีนี้ คือพิธีมอบรางวัลแก่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการน้ำภาคครัวเรือน ชุมชน และเมือง 2) การจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ 3) การศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรมด้านน้ำ 4) น้ำกับประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม