ทะเลอินโด-แปซิฟิกระอุ สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย จับมือผุดเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์

อินโดแปซิฟิกระอุ สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ร่วมสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ทำจีนหัวร้อน

วันที่ 16 ก.ย. รอยเตอร์รายงานความตึงเครียดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังทางการสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ประกาศความร่วมมือทางทหารกับออสเตรเลียในการสนับสนุนเทคโนโลยีสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ สร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีน

ความร่วมมือทางทหารระหว่าง 3 ชาติ เรียกว่า AUKUS โดยกองทัพออสเตรเลียประกาศเตรียมสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แล้ว 8 ลำ เพื่อใช้ป้องปรามภัยคุกคามและรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ทำให้ทางการจีนแถลงโจมตีทันที ว่าเป็นกลุ่มชาติที่มีเป้าประสงค์ร้าย

รายงานระบุว่า ออสเตรเลียนับเป็นชาติที่สามของโลกต่อจากอังกฤษ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯได้

ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันเผยแพร่แถลงการณ์ตอบโต้ว่า สหรัฐฯไม่ควรตั้งกลุ่มชาติที่มีเป้าประสงค์มุ่งร้ายต่อชาติอื่น พร้อมเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ยุติการตัดสินชาติอื่น รวมทั้งนำแนวคิดสงครามเย็นมาใช้

การประกาศความร่วมมือทางทหารดังกล่าวของทั้งสามชาติ ยังทำให้นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ เพื่อนบ้านออสเตรเลีย ออกมาประกาศว่าจะไม่ยินยอมให้มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของชาติใดเข้ามาเพ่นพ่านในน่านน้ำของนิวซีแลนด์โดยเด็ดขาด

ขณะที่นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุทางโทรศัพท์กับนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ว่าสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับออสเตรเลียมายาวนาน และแสดงความหวังว่าการผนึกกำลังข้างต้นกับสหรัฐฯ และอังกฤษ จะเป็นไปเพื่อสันติภาพของภูมิภาค

นอกจากนี้ นายมอร์ริสัน ยังโทรศัพท์หารือกับผู้นำญี่ปุ่น และอินเดียด้วย โดยนายคัตสึโนบุ คาโตะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ทางการญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมผ่านกลุ่ม 4 ชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย ที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงอาเซียนด้วย

การประกาศความร่วมมือทางทหาร AUKUS นั้นนอกจากเกิดต่อเนื่องจากความร่วมมือทางทหาร 4 ชาติข้างต้นแล้ว ยังเกิดขึ้ยหลังความร่วมมือทางทหารระหว่างญี่ปุ่นกับเวียดนามที่เพิ่งลงนามไป โดยญี่ปุ่นนั้นเริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนโดยเฉพาะต่อข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู ในทะเลจีนตะวันออกด้วย

นายมอร์ริสัน ระบุว่า ทางการออสเตรเลียจะยกเลิกข้อตกลงกับฝรั่งเศสมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่ให้สร้างเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล เปลี่ยนมาเป็นการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 8 ลำ ตามความร่วมมือ AUKUS แทน

อย่างไรก็ตาม นายมอร์ริสัน ย้ำว่า ออสเตรเลียไม่มีแผนที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการ เนื่องจากออสเตรเลียมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีความสามารถในการออกปฏิบัติการและอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานกว่าเรือดำน้ำชนิดอื่น ส่งผลให้เรือดำน้ำนิวเคลียร์มีขีดความสามารถในการหลบเลี่ยงการตรวจจับและต่อต้านการแทรกซึมของเรือดำน้ำข้าศึกได้ดี ซึ่งมีเพียงชาติเดียวที่มีขีดความสามารถนี้ในภูมิภาค คือ ประเทศจีน

ทางการออสเตรเลียยังมีแผนจะยกระดับแสนยานุภาพกองทัพด้านอื่นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากประเทศคู่อริด้วย อาทิ การเสริมสมรรถนะพิสัยการยิงของขีปนาวุธร่อน หรือจรวดครุยส์ ในเรือพิฆาต และแบบปล่อยจากเครื่องบินขับไล่ F/A-18 Hornet ด้วย