CARE สรุป 9 ข้อเสนอโทนี แนะ ‘ฟังเด็กจริงจัง ดีกว่าไล่แจกกระสุนยาง-แก๊สน้ำตา’

CARE สรุป 9 ข้อเสนอโทนี แนะ ‘ฟังเด็กจริงจัง ดีกว่าไล่แจกกระสุนยาง-แก๊สน้ำตา’

กรณี “โทนี วู้ดซัม” หรือนายทักษิณ ชินวัตร ร่วมเสวนาในคลับเฮาส์ CARE Talk x CARE ClubHouse ในตอน “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของการเมืองไทย : แล้วอนาคตของเยาวชนไทยจะเป็นอย่างไร” เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันที่ 15 ก.ย. เพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้สรุปสาระสำคัญจากเสวนาดังกล่าว ดังนี้

“9 ข้อเสนอ เพื่ออนาคตไทยจาก Tony Woodsome”

1. Food Industry – ส่งออกอาหาร ไม่ใช่สินค้าเกษตร

เมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่การส่งออกเพียงแค่สินค้าเกษตรไม่ทำให้เรามีเม็ดเงินพอจะพัฒนาประเทศ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ดังนั้นทางรอด คือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันให้ “ครัวไทยไปสู่ครัวโลก” โดยส่งออกอาหารผ่าน 2 ทาง

(1) ส่งผ่านพุงนักท่องเที่ยว : ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาลิ้มรสอาหารไทย ให้มาทำรีวิวอาหารไทย ให้มาที่ไทยเพื่อกินอาหารไทยแบบต้นตำรับ

(2) ส่งตรงไปยังร้านอาหารไทยในต่างประเทศ : สร้างเครือข่ายร้านอาหารไทยในต่างประเทศ แล้วส่งออกวัตถุดิบชั้นเยี่ยมจากเมืองไทย ให้ร้านอาหารไทยกลายเป็นร้านอาหารระดับโลก

2. พัฒนา OTOP ไทยให้เทียบชั้นแบรนด์เนม

ท้องถิ่นแต่ละที่มีของดีอยู่แล้ว ถ้าหากรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน การออกแบบดีไซน์ การพัฒนาคุณภาพสินค้า การตลาด การประชาสัมพันธ์ จะทำให้เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลไหลตรงไปหาผู้ประกอบการรายย่อย และถ้ารัฐส่งเสริมให้มีการพัฒนาแบรนด์สินค้าควบคู่ไปกับพัฒนาคุณภาพสินค้า จะทำให้ OTOP ไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและยกระดับให้เทียบชั้นแบรนด์เนมของฝรั่ง เราอาจจะมี Hermes / Louis Vuitton แบบไทยๆ ก็ยังได้ถ้าตั้งใจทำ

3. เร่งปรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สอดรับกับ New Normal

การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้การท่องเที่ยวตายสนิท และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากนี้ ก็คงยากที่เราจะได้เห็นนักท่องเที่ยวแห่แหนกันมาเที่ยวเมืองไทย 30-40 ล้านคน เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นต้องเร่งปรับการท่องเที่ยวใหม่ หาทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไร จะปรับเป็นการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบตะลุยกิน หรืออื่นๆ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ มีมูลค่าต่อหัวที่สูงขึ้น ไม่ใช่เน้นปริมาณ แต่มูลค่าต่อหัวน้อยเหมือนที่ผ่านมา รัฐและเอกชนต้องรีบร่วมมือกันอย่างจริงจัง

4. กระจายเงินลงทุนของภาครัฐและจูงใจให้เอกชนกลับภูมิลำเนา

กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยวมานานเกินไป ต้องมีการกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัด โดยวิธีที่ดีที่สุด คือ การกระจายเงิน ทั้งเงินลงทุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนด้านการศึกษา ลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับจังหวัด รวมไปถึงการจูงใจให้เอกชนกลับภูมิลำเนา ลงทุนการค้าทำธุรกิจในบ้านเกิด

ถ้าเม็ดเงินไหลสู่ต่างจังหวัด แรงงานก็จะไหลกลับบ้าน เพราะมีเงินมีงานรองรับ เมื่อทุกคนกลับบ้าน ก็จะเกิดสำนึกรักบ้านเกิดและอยากพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้การปกครองท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น เกิดการกระจายอำนาจตามมา เมื่อทุกจังหวัดแย่งกันเติบโต ประเทศไทยก็จะมีหัวเมืองเศรษฐกิจใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงเมืองเดียวอย่างที่เป็นมา

5. ส่งเสริม Creative Economy อย่างจริงจัง โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเสริม

เรื่อง Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็น Soft Power ที่เราต้องหันมาจริงจังกันสักที เพราะจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจบานใหม่ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นอกเหนือจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเก่า ๆ ที่กำลังจะดับ

เรามีต้นทุนที่ดี ทั้งวัฒนธรรมที่ดี คนที่เก่ง มีความประณีตและสร้างสรรค์ มีของดีมากมาย ทั้งอาหาร ดนตรี หนัง แฟชั่น หรืองานฝีมือต่าง ๆ ถ้ารัฐหันมาส่งเสริมอย่างจริง ทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมและใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การใช้ AI มาวิเคราะห์ตลาด ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมาพัฒนาแผนการตลาด จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่แนวหน้าด้าน Creative Economy

6. ต้องเปิดกว้างเพื่อรับเอาค่านิยมสมัยใหม่มาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

Creative Economy หลายอย่างจำเป็นต้องคิดนอกกรอบ แม้หลายอย่างอาจทะลุกรอบค่านิยมดั้งเดิมของไทย ซึ่งเราต้องใจกว้าง ต้องเปิดกว้างรับเอาค่านิยมสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง ที่มีการพัฒนาซีรีส์วายกันอย่างแพร่หลายและโด่งดังในระดับโลก

ถ้าเรามัวแต่ติดกรอบวาทกรรมชายหญิงแบบเดิม ๆ เราจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจตรงส่วนนี้ไป ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพมากอยู่แล้ว ดังนั้นการติดอยู่ในกรอบค่านิยมแบบเก่า ๆ นอกจากจะไม่สร้างมูลค่าแล้ว ยังทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสอีกด้วย

7. ยกเครื่องระบบการศึกษาใหม่ เปิดพื้นที่ให้เกิดการมั่วสุมในสิ่งสร้างสรรค์

การเรียนการสอนในหลักสูตรแบบเดิมนั้น ไม่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศอีกแล้ว มีแต่จะสร้างความเสียหายมากขึ้นทุกวัน ถ้าเราไม่ยกเครื่องการศึกษาใหม่หมด เราจะเสียเด็ก GenZ ไปทั้งรุ่น ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้มามั่วสุมกันในสิ่งสร้างสรรค์ ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กมาเรียนรู้และทำในสิ่งที่เขาชอบ เขาจะทำได้ดีและไปได้ไกล

ไม่ว่าจะเป็น กีฬา คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ วิทยาศาสตร์ ชีวะ ฟิสิกส์ การแสดง การเต้น การร้องเพลง ศิลปะ หรือในทุก ๆ ด้านที่เด็กสนใจ เราจำเป็นต้องปลดปล่อยพลังและความคิดสร้างสรรค์ของเขาให้เต็มที่ เพราะพวกเขาจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

8. รับฟังเด็กอย่างจริงจังและจริงใจ ดีกว่าไล่แจกกระสุนยางและแก๊สน้ำตา

เด็กทุกคนคือลูกหลานของพวกเรา ถ้าเราไม่ฟังเขาแล้วเราจะฟังใคร ถ้าเราไม่ฟังเสียงของอนาคตแล้วเราจะมีอนาคตได้อย่างไร ดังนั้น ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องเปิดใจ เข้าไปพูดคุยกับเด็ก ลดทิฐิลง รับฟังปัญหา และร่วมหาทางออกร่วมกัน ดีกว่าไม่รับฟัง ปิดปากเขา ปราบปรามเขา ยิงกระสุนยาง แจกแก๊สน้ำตา ทุบตีเหมือนเด็กเหล่านี้ไม่ใช่ลูกหลานของเรา ทำแบบนี้ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ และมีแต่จะส่งผลเสียต่อบ้านเมือง รัฐต้องคิดเสมอว่า ประเทศนี้ต้องเป็นประเทศที่คนทุกเจนเนอเรชั่นอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น “เราต้องรับฟังซึ่งกันและกัน”

9. คืนประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ประชาชน

ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มีแต่ประชาธิปไตยเปลือกปลอมที่มีแต่กลไกสืบทอดอำนาจ ทำให้เราได้รัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รัฐไม่รับฟัง ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือในการลงทุน ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพราะความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพของคนจะถูกปลดปล่อยได้อย่างเต็มที่ ในสภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น ประชาธิปไตยเป็นกุญแจดอกแรกที่จะพาประเทศไทยให้กลับมามีโอกาสและอนาคตได้อีกครั้ง