ลุงป้อม ห่วงชาวบ้าน! สั่งหน่วยงานระดมเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วม เร่งกำจัดผักตบชวากีดขวางทางระบายน้ำ

วันนี้ (10 กันยายน 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล ผ่านศูนย์ประชุมวิดีโอ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมประชุม พร้อม VDO Conference ไปยังผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และรับทราบความก้าวหน้าตาม 10 มาตรการฤดูฝน โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมแผนก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัยให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนเป็นรายพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ต้องมีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ถึงประชาชนโดยเร็ว เพื่อเตรียมการอพยพป้องกันผลกระทบให้เกิดได้น้อยที่สุด ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ฝน (One Map) พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.64 ปริมาณฝนทั้งประเทศจะมีค่ามากกว่าค่าปกติถึง 7-15% ขณะที่แนวโน้มการเกิดพายุขณะนี้ พบว่า ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ก็จะประมาทไม่ได้ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสื่อสารต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวได้ทันต่อสถานการณ์ภัยที่จะเกิดขึ้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อรองรับน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แบ่งเป็น เดือน ก.ย.-ต.ค.64 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแจ้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบและซักซ้อมการเผชิญเหตุ เร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำ รวมทั้งเน้นย้ำให้วางแผนเร่งเก็บกักน้ำก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบการขับเคลื่อนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง และร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชนต่อไป โดยเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 66 จำนวน 3 โครงการ ที่จะสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ 1. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี’65–70) เก็บกักน้ำต้นทุนได้ 27.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 35,000 ไร่ ฤดูแล้ง 7,000 ไร่ และเสริมศักยภาพผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง โดยให้กรมชลประทานปรับแผนการเตรียมความพร้อมจัดหาที่ดินในปี’65 ให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 66 รวมถึงทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 2.โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 65–68) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำกลับเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มอีก 50 ล้าน ลบ.ม./ปี ประกอบด้วย โรงสูบผันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ระบบท่อผันน้ำและอาคารทิ้งน้ำ โดยให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการโครงการเติมน้ำให้อ่างฯประแสร์และกิจกรรมใช้น้ำจากอ่างฯประแสร์ให้เกิดความสมดุล ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ใน 38 โครงการตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี ซึ่งสทนช.จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงและประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ จำนวน 5 ฉบับ ใน 5 มาตรา แบ่งเป็น ร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ ร่างประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2 ฉบับ ซึ่งการศึกษาและพิจารณายกร่างกฎกระทรวงและประกาศทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนร่างประกาศ กนช. 2 ฉบับ หลังจากประธาน กนช.ลงนามเรียบร้อยแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป.