อ.จุฬาฯ ซัด กมธ.การศาสนาฯใช้อำนาจอะไร กำหนดเนื้อหา 2 พส. ซัดไม่สอดคล้องรธน.

อ.จุฬาฯ ชี้ กมธ.เรียก 2 พส.แจงปมไลฟ์สด ใช้อำนาจไม่สอดคล้อง รธน. ย้ำเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่างยิ่ง ต้องแยกทางโลก-ทางธรรม ให้ชัด 

กรณีกรรมาธิการ(กมธ.)การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เชิญ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต แห่งวัดสร้อยทอง เข้าพบหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงประเด็นการไลฟ์ ซึ่งถูกมองว่า ไม่สำรวมนั้น

ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า กรณี พส. 2 รูป รับนิมนต์ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการการศาสนาฯนั้น ก็เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่ควรอธิบายให้ชัดเจน

ผมเห็นว่าการใช้อำนาจของ กมธ.ไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเรียก หรือเชิญท่านไปชี้แจงอธิบายใดฯ ที่สภาฯ

1.กรณี กมธ.ฯ ใช้อำนาจเรียก (อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง) อันเป็นกลไกทางการเมืองอาจมีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงอยู่ ม.31 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่มีส่วนในการกำหนดแยกเขตแดนระหว่าง“กิจกรรมทางการเมือง” (เรื่องทางโลก) กับ “กิจกรรมทางศาสนา” (เรื่องทางธรรม) ออกจากกัน (Seaparation of State and Church)

2.จากข้อ 1 การที่ กมธ.บางท่านอ้างว่าคณะกรรมาธิการมีอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องต่อ (หลักกฎหมาย) รัฐธรรมนูญเสียเอง

3.หาก กมธ.ฯจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อใช้อำนาจเรียกเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นั้น สามารถทำได้ด้วยการเรียกผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเข้ามาชี้แจง

หลักการทางรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ต้องพูดกันให้ชัดเจน “อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา” มีข้อจำกัด ไม่อาจใช้ได้ในทุกกรณี (ไม่ต่างกับกรณีการห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่มีการดำเนินคดีแล้วตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ฯลฯ)

ฝ่ายการเมืองต้องตระหนักกับหลักการข้างต้น ไม่ใช้ระบบคณะกรรมาธิการในสภาฯ ซึ่งเป็นกลไกทางการเมืองไปแทรกแซงเรื่อง หรือกิจกรรมทางศาสนาด้วย ด้วยการเรียก “พส.” ทั้ง 2 รูป โดยตรงทั้งๆ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เช่นนี้ มิฉะนั้นแล้วต่อไป “โลกทางการเมือง” และ “โลกทางธรรม” คงจะปะปนหาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกันได้ยาก

จากนั้น ผศ.ดร.พรสันต์ ยังได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติม ภายหลังเสร็จสิ้น การหารือระหว่าง กมธ.การศาสนาฯกับพระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ว่า

แม้ทางคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ของสภาผู้แทนราษฎรจะกล่าวว่าไม่ได้เข้าไปชี้ถูกผิดในเนื้อหาการไลฟ์สดของ พส.ทั้ง 2 รูป เป็นแค่การหารือเท่านั้น แต่ผมขอย้ำว่าการหารือแลกเปลี่ยนทำไม่ได้และไม่ควรกระทำตั้งแต่ต้นอยู่แล้วเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ครับ
.
เรื่องถูกผิด หรือเหมาะสมหรือไม่อย่างไรทางศาสนาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่ กมธฯ ขอให้การไลฟ์สดของพระมหาสมปองก็ดี หรือพระมหาไพวัลย์ก็ดี มีเนื้อหา 70% และเฮฮา 30% ถือเป็นกรณี (ฝ่าย) การเมืองเข้าไป “ล่วงละเมิด หรือแทรกแซงกิจกรรมทางศาสนา” ของ พส. ทั้ง 2 รูป แล้ว (จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) นี่คือการเข้าไปตัดสินและกำหนดเนื้อหาที่ พส.ทั้ง 2 จะนำเสนอเผยแผ่แล้วโดยปริยาย
.
คำถามผมคือ กมธฯ ใช้อำนาจอะไรในการเข้าไปบอกกล่าวกำหนดเนื้อหาเช่นนั้น?
.
ประเด็นนี้สำคัญอย่างมาก เราต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดครับระหว่าง “เรื่องทางการเมือง” ที่มีกลไกทางการเมืองคอยตรวจสอบถ่วงดุล และ “เรื่องทางศาสนา” ที่ก็มีกลไกตรวจสอบเป็นการเฉพาะของเขา จะเอามาปะปนกันแบบนี้ไม่ได้ มิฉะนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมฯ แบบผิดๆ ต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ในรัฐสภา (ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) สำหรับการใช้อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงที่มีขอบเขตจำกัด และมีผลกระทบอย่างมากต่อบทบาทหน้าที่ของรัฐสภาโดยรวมด้วย
.
หากยังคงคิดว่าทำได้ ลองนึกภาพว่า ในอนาคต วันดีคืนดีคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ของรัฐสภาอยากจะใช้อำนาจเรียกพระสงฆ์รูปอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนหารือความคิดเห็นทำนองเดียวกับพระมหาสมปองและพระมหาไพวัลย์แบบนี้ก็ทำได้อย่างนั้นหรือ? พระท่านจะหน้าที่ หรือดำเนินกิจกรรมของตนเองอย่างไร? เราจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำไม? ฯลฯ