จับตา ครม.สายเหยี่ยวตอลิบัน พร้อมกลับมาใช้ชื่อประเทศ ‘เอมิเรตอิสลาม’

จับตา ครม.สายเหยี่ยวตอลิบัน รมว.มท.ถูกสหรัฐฯตั้งค่าหัว 165 ล้าน เรียกประเทศ ‘เอมิเรตอิสลาม’

ทาลิบันได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นชายล้วน และมาจากกลุ่มอดีตนักรบของทาลิบันที่ปกครองอัฟกานิสถานด้วยท่าทีแข็งกร้าวในช่วงทศวรรษที่ 1990 และเป็นแกนนำในการต่อสู้การทำสงครามกับสหรัฐตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังประกาศชื่อเรียกประเทศเป็นเอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถานอีกด้วย

หนึ่งในผู้รับตำแหน่งสำคัญคือนายซิลาฮุดดิน ฮักกานี ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ทั้งที่เป็นบุคคลอยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้ก่อการร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของสหรัฐ โดยมีค่าหัวถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 165 ล้านบาท และเชื่อว่าเขายังมีชาวอเมริกันอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ด้วย

เครือข่ายของนายฮักกานียังเชื่อว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุโจมตีที่มีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง และยังอยู่เบื้องหลังการลักพาตัวคน ทำให้การประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีของทาลิบันไม่น่าจะทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศมากนัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้นำใหม่ของอัฟกานิสถานต้องการการสนับสนุนเพื่อให้หลีกเลี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจ

การประกาศรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ของทาลิบันเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากทาลิบันได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านทาลิบันในกรุงคาบูล และยังได้จับกุมนักข่าวหลายคนอีกด้วย นับเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ที่ทาลิบันต้องใช้วิธีดังกล่าวเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านทาลิบัน

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ใน ครม.ทาลิบันเป็นชาวพัชตุนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ปราศจากตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่ทำให้แนวโน้มของการรณรงค์เพื่อหาความสนับสนุนจากประชาคมโลกดูไม่มีความหวังมากนัก

ประเด็นสำคัญคืองบประมาณถึง 80% ของอัฟกานิสถานมาจากความช่วยเหลือของประชาคมระหว่างประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่แล้วของอัฟกานิสถานก็เผชิญกับความเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันเที่ยวบินจากกาตาร์ต้องนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้ามาส่งยังอัฟกานิสถานเกือบทุกวัน แต่ความต้องการความช่วยเหลือมีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทาลิบันจะแบกรับได้หากถูกโดดเดี่ยวจากโลก

แม้ว่าโฆษกของทาลิบันซึ่งประกาศรายชื่อ ครม.ดังกล่าวจะเน้นย้ำว่า นี่เป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดว่า ครม.ชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่งนานเท่าใด จะทำงานอย่างไร และอะไรคือตัวเร่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีการเจรจาเกี่ยวกับการถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานในกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ทาลิบันไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ ว่าจะจัดการเลือกตั้งขึ้น