“ธิดารัตน์” ชี้รบ.ล้มเหลวแก้เหลื่อมล้ำการศึกษา แนะเรียนออนไลน์ทั่วถึง-มีประสิทธิภาพ

ธิดารัตน์ ชี้รัฐบาลล้มเหลวแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสนอเรียนออนไลน์ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

วันที่ 7 กันยายน 2564 นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19 งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปี 65 ถูกตัดออกไป 2.45 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 6.75% ยิ่งกระทบเด็กหนัก เห็นได้จากการที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานว่านักเรียนยากจนพิเศษพุ่งนิวไฮ 1.3 ล้านคน เด็กยากจนพิเศษ 271,888 คน ใน 29 จังหวัดที่มีโควิด-19 ระบาดหนักยังขาดแคลนไฟฟ้าและอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และมีกระแสเด็กต่อต้านการเรียนออนไลน์โดยการหยุดเรียน จึงขอเสนอ 3 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้

ข้อที่ 1 จัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้แก่นักเรียนอย่างเร่งด่วน โดยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนซื้อให้นักเรียนยืมใช้ ให้ผู้ปกครองผ่อนซื้อแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย และให้นักเรียนใช้อินเตอร์เน็ตฟรีอย่างทั่วถึง เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะของ ศธ. ที่อนุมัติกรอบวงเงิน 23,000 ล้าน ที่ให้เงินสนับสนุนแก่นักเรียนในระบบการศึกษาไทยคนละ 2,000 บาท โดย PISA รายงานว่าก่อนโควิด-19 มีเด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียง 20% เงินสนับสนับสนุนจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการซื้อสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน๊ตบุ๊ค

ข้อที่ 2 เร่งฉีดวัคซีนให้ครูและนักเรียนในเขตพื้นที่สีแดงเพื่อให้สามารถเปิดเรียนได้ แม้ว่าเราต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาว แต่อย่างน้อยเด็กต้องกลับไปเรียนบ้าง เพราะเรียนออนไลน์อย่างเดียวทำให้เด็กขาดพัฒนาการด้านทักษะทางสังคม และการเรียนบางวิชาต้องใช้อุปกรณ์ห้องแลปที่โรงเรียน ทางธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าหากปิดโรงเรียนถึงสิ้นปีนี้ เด็กไทยจะมีความรู้ถดถอยถึง 1.27 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 30% ของ GDP รูปแบบการเรียนอาจเป็นแบบเรียนตัวต่อตัว 50% เรียนออนไลน์ 50% ให้นักเรียนสลับวันกันเรียน และมีกฎระเบียบให้ปฎิบัติเวลาอยู่โรงเรียนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ข้อที่ 3 สร้างมาตรฐานการเรียนการสอนออนไลน์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ต้องออกแนวทางหรือ guideline เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียน ไม่ใช่แค่ให้ครูพูดคนเดียวและสั่งการบ้านเยอะเกินไป เพราะทำให้เด็กเครียด ต้องอบรบครูให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว เปิดโอกาสให้เด็กเสนอความคิดเห็นได้ ส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวเอง และเริ่มสอนความรู้ที่สอดคล้องกับโลกยุคที่ถูก disrupt การศึกษาถูก disrupt ทั่วโลก การศึกษาไทยก็ควรจะปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานใหม่ด้วย