ผลศึกษาเผยสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ทำให้โควิดในเด็กรุนแรงขึ้นมากนัก

ซีดีซี เผยผลศึกษาเผยสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ทำให้โควิดในเด็กรุนแรงขึ้นมากนัก

วันที่ 4 กันยายน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างอิงผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาว่า จำนวนเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐเพิ่มขึ้นตั้งแต่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด แต่ในการศึกษาใหม่ที่นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า หลังจากเปรียบเทียบข้อมูลของเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงก่อนสายพันธุ์เดลต้าระบาดกับช่วงที่เดลต้าระบาดพบว่าจำนวนเด็กที่มีอาการรุนแรงไม่แตกต่างกันมากนัก

รายงานดังกล่าวยังพบว่าระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคมของปีนี้ วัยรุ่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนถึง 10.1 เท่า หลังจากมีการศึกษาข้อมูลของวัยรุ่นที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโควิดจำนวน 68 คน ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 59 คน ฉีดวัคซีนยังไม่ครบโดส 5 คน และฉีดครบโดสแล้ว 4 คน

ทางซีดีซีได้วิเคราะห์บันทึกของโรงพยาบาล 3,116 ชิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของเชื้อเดลต้า และบันทึกอีก 164 ชิ้น ตั้งแต่ช่วงที่เชื้อเดลต้าเริ่มระบาดถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2021 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวครอบคลุมประมาณ 10% ของประชากรสหรัฐ

โดยจำนวนการรักษาตัวในโรงพยาบาลของเด็กอายุ 0-17 ปี อยู่ที่ 0.3 ต่อ 100,000 ในช่วงวันที่ 12 มิถุนายน-3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ต่ำที่สุด ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ต่อ 100,000 ในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4.7 เท่า

การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของเด็กเพิ่มสูงที่สุดในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 9 มกราคม อยู่ที่ 1.5 ต่อ 100,000 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่าในช่วงฤดูหนาว

ข้อมูลนี้มีความสอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ว่ากลุ่มเด็กอายุ 12-17 และ 0-4 ปี มีความเสี่ยงที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิดมากกว่ากลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี

ส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียูช่วงก่อนเชื้อเดลต้าระบาดคือ 26.5% ส่วนหลังเชื้อเดลต้าระบาดคือ 23.2% สำหรับเปอร์เซ็นต์ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจช่วงก่อนเชื้อเดลต้าระบาดอยู่ที่ 6.1% หลังเชื้อเดลต้าระบาดอยู่ที่ 9.8% และเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตช่วงก่อนเชื้อเดลต้าระบาดคือ 0.7% และหลังเชื้อเดลต้าระบาดอยู่ที่ 1.8%