อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันซื้อวัคซีนโควิดทุกตัวได้ราคาถูกกว่า 50% ไม่มีเงินทอน ขออย่าด้อยค่า

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันจัดซื้อวัคซีนโควิดทุกตัวได้ราคาถูกกว่า 50% ไม่มีเงินทอน หากมีไฟเซอร์-แอสตร้าฯ-รบ.จีนคงไม่ยอม ขออย่าด้อยค่าวัคซีนจนกลัวไม่ไปฉีด

วันที่ 4 ก.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด 19 ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องเงินทอน อย่าง วัคซีนซิโนแวค ชนิดเชื้อตายที่จัดหามาเมื่อ ก.พ. 2564 ราคาวัคซีน 17 เหรียญ ปัจจุบันหลังมีการซื้อจำนวนมากความต้องการฉีดยังมี ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ราว 9 เหรียญ เมื่อเทียบวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า 50% ไม่มีเงินทอน
ส่วน ไฟเซอร์ชนิด mRNA เทียบกับอีกบริษัทหนึ่งราคาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดซื้อถูกกว่า 50% ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า ที่เราจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน ราคาก็ถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหาได้ในประเทศ เรื่องเงินทอนไม่มีแน่นอน

ส่วนเรื่องการสัญญวัคซีน แม้ปัจจุบันวัคซีนจะมีมาก แต่ตลาดเป็นของผู้ขายและผลิต เพราะความต้องการฉีดมีมากกว่ากำลังการผลิต

ตอนทำสัญญากับแอสตร้าฯ เราทำตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ และวัคซีนทุกชนิดยังไม่เสร็จ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน แต่เห็นแนวโน้มจะสำเร็จ จึงเร่งทำสัญญาจองซื้อล่วงหน้า ซึ่งการลงนามสัญญาไม่ใช่สัญญาปกติ เพราะมีการระบาดทั่วโลกเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ถ้าเป็นระบบปกติเราคงไม่ลงนามสัญญาแบบนี้ โดยเฉพาะระเบียบกฎหมายของไทย เนื่องจากของที่ผลิตจะเสร็จหรือไม่ ยังไม่รู้และยังไม่มีของ จะผลิตได้เมื่อไร จำนวนเท่าไร ประสิทธิภาพเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ และการลงนามในสัญญาทุกบริษัทวัคซีนมีข้อกำหนดเกือบทุกครั้งว่า ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญาจนกว่าบริษัทจะได้รับความยินยอม แต่ต้องลงนาม จนทุกวันนี้ฉีดแอสตร้าฯ มากกว่า 15 ล้านโดส ภาพรวมทั้งประเทศฉีดวัคซีน 35 ล้านโดสคงทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลงนามในสัญญา

“ทั้งหมดเราทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีการเปิดช่องให้สามารถทำได้ รวมถึงตัวสัญญามีการปรึกษาอัยการสูงสุดมาตลอด รายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ของบประมาณจากงบกลางงบเงินกู้จาก ครม. การซื้อทุกครั้งจึงต้องขออนุมัติผ่านความเห็นชอบ ครม.” นพ.โอภาสกล่าวและว่า ปัจจุบันซีอีโอของแอสตร้าฯ ทำหนังสือแสดงความุ่งมั่นถึงนายกฯ จะส่งวัคซีนที่เราจอง 61 ล้านโดสในปีนี้ และทราบว่าโรงงานผลิตในไทย มีศักยภาพการผลิตเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้นเรื่อยๆ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนสัญญาไฟเซอร์มีการเจรจาตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ การเจรจา มีข้อตกลงคือไม่เปิดเผยข้อมูลของเขา และเป็นสัญญาไม่ปกติเช่นกัน จำเป็นต้องลงนามในสัญญา ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบลงนาม ผ่านความเห็นของอัยการ โดยเราจอง 30 ล้านโดส ได้รับแจ้งว่าจะส่งตามสัญญา ไตรมาส 4 ของปีนี้

ซึ่งทุกบริษัทคล้ายกันที่ไม่บอกเวลาชัดเจน บอกเป็นไตรมาส แต่คราวนี้กำลังการผลิตมีมากขึ้น ก็สัญญาจะส่งมอบให้เราก่อนสัญญา ซึ่งต้องติดตามกัน โดยจะส่งมอบให้เราปลายเดือนนี้ และส่งให้ครบ 30 ล้านโดสในไตรมาส 4

ส่วนวัคซีนซิโนแวค สถานทูตจีนออกแถลงการณ์ในเฟซบุ๊ก ยืนยันว่าช่วงประเทศไทยต้องการวัคซีนมากๆ ช่วง ก.พ. มี.ค. ที่เรามีการระบาดสมุทรสาคร จีนเขาช่วยเรา ซึ่งทั่วโลกต้องการจำนวนมาก แต่ก็แบ่งมาช่วยเราให้ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันประสิทธิภาพ ลดป่วยหนักและเสียชีวิต ช่วยชีวิตคนไทยได้จำนวนมาก

เมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเข้ามา วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลงแต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีประสิทธิภาพ สธ.และเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุของไทยหาวิธี อาศัยการวิจัย ข้อมูลวิทยาศาสตร์จาก ร.ร.แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มาปรับสูตรวัคซีนไขว้ ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนมีมากขึ้น การฉีดเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น ทั่วโลกยอมรับสูตรไขว้ หลายประเทศก็ทำ เช่น เยอรมนี

“สธ.และวงการแพทย์สาธารณสุขไม่เคยหยุดนิ่ง หาทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน การส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนทุกครั้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชั่นมาก เช่นเดียวกับไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนเขาคงไม่นิ่งเฉย

จึงขอว่าอย่าด้อยค่าวัคซีนที่เรามี ยืนยันความโปร่งใสของ สธ.ในการจัดหา ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน จนหลายคนกลัวไม่ไปฉีด หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ชีวิตคนไทย ขอให้มารับวัคซีนครบถ้วน ตามที่ สธ.และรัฐบาลกำหนดแจ้งไว้” นพ.โอภาสกล่าว