เปิด 3 สูตรวัคซีนไขว้ ‘ซิโนแวค-แอสตร้าฯ’ ส่วน ‘แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์’ เริ่มเดือนหน้า

ศปก.สธ.เห็นชอบ 3 สูตรวัคซีนโควิด คือ ซิโนแวค-แอสตร้าฯ เป็นสูตรหลัก แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ เริ่มใช้เดือนหน้า คนฉีดซิโนแวค 2 เข็มบูสต์ด้วยแอสตร้าฯ

วันที่ 3 ก.ย.64 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิดสูตรไขว้ ว่า วันที่ 2 ก.ย.64 ประเทศไทยฉีดวัคซีน 34,292,537 โดส เป็นเข็มแรก 24,524,140 ราย คิดเป็น 34% ของประชากร รับครบ 2 เข็ม 9,152,799 ราย คิดเป็น 12% ของประชากร เมื่อวานวันเดียวฉีด 865,074 โดส ระยะนี้ส่วนใหญ่เป็นเข็ม 2 เนื่องจากครบกำหนดรับแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 หลังจากฉีดมาตั้งแต่ มิ.ย. จะเห็นว่าการรับวัคซีนช่วงนี้มีอัตราฉีดเร็ว ประชาชนร่วมมืออย่างดี ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับการฉีดสูตรไขว้ วันนี้การประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด 19 (ศปก.สธ.) ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาศัยคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่ประชุมวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา และอาศัยข้อมูลวิชาการใหม่ๆ ผลศึกษาวิจัยในต่างประเทศและในประเทศไทย อนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ดังนี้

1.ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ห่าง 3-4 สัปดาห์ เป็นสูตรหลักของประเทศไทยระยะนี้ กลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป

2.แอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ ห่าง 4-12 สัปดาห์ สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป จะใช้แพร่หลายในเดือน ต.ค. เมื่อมีวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเราสั่งซื้อถึงกำหนดส่งมอบปลายเดือนนี้ และจะเข้าต.ค.-ธ.ค.ประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ใช้บ้าง เนื่องจากมีไฟเซอร์เหลือจำนวนหนึ่งไม่มาก หลังฉีดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าแล้ว มาให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ โรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ฉีดแอสตร้าฯ เข็มแรกเมื่อมิ.ย.และเริ่มครบกำหนดฉีดเข็ม2 มาถึงรพ.ที่มีไฟเซอร์ สามารถฉีดแทนแอสตร้าฯ ได้

และ 3. กรณีซิโนแวค 2 เข็ม รับกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เข็ม 3 ระยะห่าง 4 สัปดาห์หลังฉีดซิโนแวคเข็มสอง ซึ่งตรงนี้อาศัยข้อมูลวิชาการ และพิจารณาจำนวนวัคซีนที่มีในแต่ละระยะ เพื่อมาแนะนำในการฉีด การออกสูตรวันนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ รพ.ต่างๆ นำไปใช้ในทิศทางเดียวกัน เกิดความมั่นใจประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ดี

สำหรับสูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ข้อมูลศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันมีความสอดคล้องกันคือ ภูมิคุ้มกันสูงสู้เดลตาได้ในระยะเวลารวดเร็ว

ส่วนกรณีคนที่เคยติดเชื้อหรือหายป่วยจากโควิด 19 แล้วหลายแสนคน คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า หลังจากที่หายป่วยแล้ว 1-3 เดือน ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มให้เกิดภูมิสูงขึ้นป้องกันติดเชื้อซ้ำ แนะนำฉีดด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ หากเกิน 3 เดือนให้ฉีดโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ติดเชื้อแต่ยังไม่เคยรับวัคซีนหรือรับไม่ครบ 2 เข็ม หรือรับ 2 เข็มแต่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ถือว่าภูมิยังไม่ขึ้น ก็ให้ฉีดกระตุ้นด้วย ส่วนคนที่ฉีด 2 เข็มเกิน 2 สัปดาห์แล้วติดเชื้ออาการน้อยไม่ต้องฉีดกระตุ้น

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การจัดหาวัคซีน ก.ย.-ธ.ค.2564 ไทยมีเป้าหมายฉีด 70% ของประชากร แต่การระบาดของเดลตามีการติดเชื้อได้มาก 1 รายอาจแพร่ 7-8 ราย ภูมิคุ้มกันหมู่ 70% อาจไม่พอ ถ้าเรามีคนยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่เคยติดเชื้อเหลือเท่าไร พยายามฉีดให้หมด น่าจะขยับได้มากกว่า 70% สธ.ต้องเตรียมวัคซีนให้พอ

จากนี้จะมีวัคซีนหลัก 3 ตัว คือ ซิโนแวค ก.ย.-ต.ค.เดือนละ 6 ล้านโดส แอสตร้าฯ ส่งมอบมากขึ้น ก.ย. 7.3 ล้านโดส และบริษัทบอกว่าอาจถึง 8 ล้านโดสได้ ต.ค.-ธ.ค. คือ 10, 13, 13 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ครบถ้วน 61 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ ต.ค.ถึง ธ.ค.เดือนละ 8-10 ล้านโดส ทำให้แอส ตร้าฯ และไฟเซอร์มีจำนวนมากสุดในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้