นายกสภาวิศวกร ชี้ 2 ปัจจัยแก้ไม่ตก! เหตุน้ำท่วมขัง ‘พื้นที่แอ่งกระทะ-ไม่มีทางระบายน้ำ’ พร้อมยื่น 2 ข้อเสนอหน่วยงานท้องถิ่นแก้ปัญหายั่งยืน

กรุงเทพฯ 3 กันยายน 2564 – ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ชี้ 2 ปัจจัยก่อน้ำท่วมขังนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ กรณีฝนตกหนักต่อเนื่อง ได้แก่ ‘ลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายแอ่งกระทะ’ จากกรณีสูบน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี เป็นผลให้พื้นดินทรุดตัวต่ำกว่าน้ำทะเล และ ‘ไม่มีช่องทางระบายน้ำจากการวางผังเมืองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ จึงไม่พร้อมรองรับต่อการระบายหรือการไหลของน้ำ พร้อมยื่น 2 ข้อเสนอต่อหน่วยงานท้องถิ่นป้องกันน้ำท่วมขังอย่างยั่งยืน ดังนี้ 1. ผู้นำท้องถิ่นต้องเข้าใจพื้นที่อย่างลึกซึ้ง 2. จัดสรรพื้นที่สาธารณะเป็นบ่อพักน้ำ ควบคู่กับการเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของชุมชน นอกจากนี้ กรณีประชาชนประสบปัญหาเรื่องเครื่องยนต์มอเตอร์จมน้ำนาน สามารถแก้ไขได้ด้วยการถอดส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ออกมาเป่าให้แห้ง และหล่อน้ำมันเพื่อคืนสภาพเครื่องยนต์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยด้านวิศวกรรมสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303

               ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ในช่วงที่ผ่านมานั้น หากพิจารณาถึงเหตุและปัจจัยเสี่ยงตามหลักการทางวิศวกรรมจะพบว่า มี 2 ปัจจัยหลัก คือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายกับแอ่งกระทะ เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีการสูบน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี เป็นผลให้พื้นที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำทะเล และ ไม่มีช่องทางระบายน้ำ จากการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ จึงเป็นผลให้ผังเมืองของนิคมอุตสาหกรรม ไม่พร้อมรองรับต่อการระบายหรือการไหลของน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมสูง สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพวิศวกร พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านวิศวกรรมสู่สังคมจึงมี 2 ข้อเสนอต่อหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในลักษณะดังกล่าวอย่างยั่งยืน ดังนี้

1.ผู้นำท้องถิ่นต้องเข้าใจพื้นที่อย่างลึกซึ้งเพราะขั้นแรกของการบริหารจัดการหรือแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนนั้นผู้นำท้องถิ่นจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นที่ภายในจังหวัดซึ่งหลายพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน จึงก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ เหตุเพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและไม่มีพื้นที่ธรรมชาติรองรับหรือซับน้ำ

2.     จัดสรรพื้นที่สาธารณะเป็นบ่อพักน้ำ ปัจจัยหลักของการเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีพื้นที่ธรรมชาติ/พื้นที่สีเขียวรองรับน้ำ ฉะนั้น จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาพื้นที่ของรัฐ พัฒนาเป็น สวนสาธารณะหรือทะเลสาบ สำหรับเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่พักน้ำเพื่อรอการระบาย หรือแก้มลิงใต้ดินเพื่อรองรับน้ำ นอกจากนี้ ยังเสนอให้พิจารณาใช้พื้นที่ของภาคเอกชนเพื่อรองรับน้ำ ในลักษณะการยื่นข้อเสนอเพื่อลดภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ อาทิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

               อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากข้อเสนอแนะระดับนโยบายแก่หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องแล้ว ในภาคประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องเครื่องยนต์มอเตอร์หรือลูกสูบที่จมน้ำเป็นเวลานานนั้น สามารถแก้ไขได้เพียง ถอดส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ออกมาเป่าให้แห้ง พร้อมกับหล่อน้ำมันเพื่อคืนสภาพเครื่องยนต์โดยเร็ว ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างที่พักอาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ รวมทั้งการตรวจสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ต่าง ๆ สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303

               สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครสมาชิก สมัครสอบเพื่อขอ/ เลื่อนระดับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และอื่น ๆ ของสภาวิศวกร สามารถติดต่อได้ที่ ไลน์ไอดี @coethai หรือติดตามข่าวสารและกิจกรรมความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ www.facebook.com/coethailand, www.coe.or.th และยูทูบแชลแนล “COE Thailand”  

###

หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ: เกี่ยวกับสภาวิศวกร

               สภาวิศวกร (COE: Council of Engineers) มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทสภาวิชาชีพ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น 1) การส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม 2) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางด้านวิชาการต่าง ๆ แก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและเทคโนโลยี 3) การออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม 4) การรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม 5) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม 6) การออกข้อบังคับสภาวิศวกรต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำรงตำแหน่ง “สภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร”