‘บิ๊กตู่’เตือนสติบิ๊กขรก. ตั้งเป็นนายแล้ว ไม่คิดใหม่-ทำได้ตามที่นายกฯต้องการก็เด้ง

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีกระแสข่าวว่าจะโยก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ข้ามห้วยจากกระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่งเลขาฯสมช. แทนคนใน ว่า ยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณามา ส่วนจะเป็นใครอย่างไร ก็แล้วแต่ ให้เสนอมา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงมติ ครม.แต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าส่วนราชการหลายหน่วยงานว่า ตอนนี้ได้มีการแต่งตั้งออกมาร้อยละ 90 เหลืออีกเพียง 3-4 หน่วยงานที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา รัฐบาลนี้มองทั้งเรื่องความอาวุโส ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอยู่แล้ว ไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องไปกังวลให้เขาทำงานให้ได้ก็พอ คนเรามีทั้งคนชอบไม่ชอบ เพียงแต่ชอบมากหรือชอบน้อยก็เท่านั้น สิ่งสำคัญ คือเรามีกรอบวินัยการทำงานอยู่แล้ว ถ้าแต่งตั้งมาแล้วทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ตั้งเป็นนายแล้วสั่งเฉยๆ ไม่ตามเรื่อง ไม่ติดตามนโยบาย ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลตามที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีต้องการ ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ก็ย้ายใหม่มา

“จริงๆ แล้วที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ไปยุ่งกับการแต่งตั้งพวกนี้เท่าไร ส่วนมากมาจากรัฐบาลก่อนตอนนี้ก็มาดูทุกหน่วยงานเป็นคนๆ ไป และได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบความประพฤติแล้วว่า มีคดีความอะไรติดตัวหรือไม่ ถ้ายังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีคดีความก็ไม่ให้ตั้ง ก็เอาตามนี้เป็นที่ตั้ง ผมไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว แต่ผมก็รักเขาถ้าเขาทำงานดี ผมไม่เข้าข้างคนไม่ดีอยู่แล้ว” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ครม.โยกนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ พ้นจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นไปเพื่อความเหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่ คสช.จะใช้มาตรา 44 ตรวจสอบข้าราชการที่ส่อไปในทางทุจริตรอบใหม่ว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ได้เสนอรายชื่อข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตรอบใหม่มาแล้ว โดยมีต้นทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ และจากนี้จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ในคำสั่งจะยังไม่ระบุว่ารายชื่อข้าราชการเหล่านี้มีความผิดหรือไม่ แต่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน หากพบว่าผิดจะต้องลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนรายชื่อที่มีการดำเนินการมาแล้วในห้วงที่ผ่านมา พบว่ามีร้อยละ 40 ที่ได้ลงโทษไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังต้องสอบสวนต่อไป หากตรวจสอบพบว่าไม่มีความผิด รัฐบาลจะคืนความเป็นธรรมให้