‘บิ๊กบี้’ ลั่นปี 61 ไทยปลอดแรงงานต่างด้าวผิดกม. ย้ำขีดเส้น 15 วันไม่ขยายเวลารับแจ้งอีก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างการประชุมศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการเปิดศูนย์ฯวันแรกไปจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม เป็นเวลา 15 วันของศูนย์รับแจ้งฯทั้ง 101 ศูนย์ทั่วประเทศว่า ศูนย์ต่างๆมีความพร้อมและเรียบร้อยดี แต่จากการสอบถามนายจ้างที่มาติดต่อที่ศูนย์ฯ ส่วนใหญ่บอกว่า ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแจ้งเตือนหรือการรับรู้ที่ดีพอจากภาครัฐ แต่เมื่อมี พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ได้ออกคำสั่งในการผ่อนคลายมาตรการการก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น นายจ้างเริ่มรับรู้มากขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณนายจ้างและสถานประกอบการที่ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหากพ้นกำหนดช่วง 15 วันในการรับแจ้งแรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม จะไม่มีการให้ขึ้นทะเบียนอีก เนื่องจากการประเมินสถานการณ์แล้วมองว่าจะสามารถรองรับการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวอย่างถูกต้องได้ประมาณ 2 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือตกประมาณศูนย์ละ 1,500 คนต่อวัน ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ที่หมดระยะเวลาผ่อนผันการลงโทษตามที่ คสช.กำหนด และตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ประเทศไทยต้องไม่มีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีศูนย์รับแจ้งฯ ต่างๆ ทยอยส่งข้อมูลการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเข้ามาเบื้องต้นทางระบบออนไลน์แล้ว เบื้องต้นพบว่า 3 อันดับแรกที่มีการยื่นขอแจ้งคนต่างด้าวทำงานในไทย อันดับหนึ่งคือ สระบุรี ตามด้วยชลบุรีและกำแพงเพชน โดยพบว่า แรงงานสัญชาติพม่ามีมากที่สุด รองลงมาคือกัมพูชาและลาว ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลกรณีข่าวแรงงานต่างด้าวบางกลุ่มออกสื่อว่าถูกเรียกเก็บ แม้จะเป็นช่วงผ่อนผันนั้น อยากขอสื่อสารไปยังกลุ่มที่ประสบปัญหาให้ร้องเรียนเข้ามายังกระทรวงแรงงานโดยตรง ผ่านสายด่วน 1694 หรือที่ศูนย์ดำรงธรรมของรัฐบาลว่าไม่ได้รับความเป็ยธรรมหรือถูกเรียกเก็บอย่างไร โดยขอให้ส่งรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อทำการตรวจสอบ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการร้องเรียนในเรื่องนี้เข้ามา

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ส่วนเรื่องการสวมสิทธินั้น ไม่ต้องกังวล หากมาแจ้งที่ศูนย์ฯ จะมีระบบในการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ช่วงเวลา 15 วันนี้ ให้รีบมาดำเนินการให้ถูกต้องด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้า เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งการมาดำเนินการเอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และใช้เวลาไม่นาน ยกเว้นในขั้นตอนของการพิสูจน์สัญชาติโดยประเทศต้นทาง กระบวนการประทับตราวีซ่า การตรวจสุขภาพ และการออกใบอนุญาตทำงาน แต่หากไม่สะดวกมาเองก็สามารถยื่นผ่านออนไลน์โดยเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานได้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแจ้งการทำงานคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ แต่ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมฯ จึงมาสังเกตการณ์ในการเปิดศูนย์วันแรกว่ามีความสะดวกหรือไม่ เบื้องต้นพบว่าขั้นตอนต่างๆ ไม่ยุ่งยาก แต่สิ่งที่กังวลคือ เรื่องคำจำกัดความของ “กรรมกร” เนื่องจากที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในภัตตาคารซึ่งมีสมาชิกราว 30,000 ร้าน ภายใต้สมาคมฯ และมีแรงงานต่างด้าวประมาณแสนคน มีปัญหาในเรื่องของการใช้แรงงานต่างด้าวในการเสิร์ฟอาหาร การออกบิล เพราะมีความไม่ชัดเจนของนิยามกรรมกร ทำให้ที่ผ่านมามีหลายรายถูกจับไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทางดระทรวงแรงงานจะออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับคำว่ากรรมกรว่าครอบคลุมสายงานอะไรบ้าง ซึ่งทางสมาคมฯ ก็รอและติดตามเรื่องนี้อยู่

นางฐนิวรรณ กุลมงคล

“นอกจากนี้ ในเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาผ่านระบบเอ็มโอยูยังกังวล เนื่องจากนายจ้างหลายคนไม่ได้รู้จักกับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานด้วยมากพอ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์ นายจ้างไม่อยากได้คนนี้ แต่เมื่อเสีย้งินแล้วก็ต้องใช้งาน ขณะที่ลูกจ้างบางรายก็ไม่ค่อยอยากอยู่กับนายจ้าง เพราะไม่ถูกใจ จึงมีการหนีเปลี่ยนนายจ้างเอง โดยเฉพาะเรื่องค่าแรง เนื่องจากกลุ่มลูกจ้างแรงงานตต่างด้าวแต่ละสัญชาติก็จะมีกลุ่มไลน์ในการสื่อสารกัน ก็จะทราบว่าพื้นที่ไหนมีค่าจ้างที่สูงกว่าก็จะไปทำงานที่นั่น ตรงจุดนี้จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อดึงลูกจ้างให้คงอยู่กับตัวมากขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าวและว่า แต่ต้องขอชื่นชมรัฐบาล เพราะการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่เอาแรงงานที่ผิดกฎหมายขึ้นมาอยู่บนดิน ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน ถือเป็นการกระทำที่ใจกว้างมาก

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องคำจำกัดความ “กรรมกร” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกอนุบัญญัติ เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 120 วันต้องแล้วเสร็จ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหมดว่ากรรมกรสามารถทำอะไรได้บ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลา 13.30 น. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในกรุงเทพจำนวน 5 จุดคือ จุดแรก คือ สำเพ็ง 2 ถ.กัลปพฤกษ์บางแค จุดที่ 2 อาคารสโมสรวังนันทอุทยาน กองทัพเรือ จุดที่ 3 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารบก จุดที่ 4 ไอทีสแควร์หลักสี่พลาซ่า ถ.แจ้งวัฒนะ และจุดที่ 5.บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน