จริงหรือ? ใช้มือถืออัดเสียง-ถ่ายรูปแทนการจด ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้

วันที่ 20 กรกฎาคม จากกรณีที่มีนำเสนอข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการเรียนของนักเรียน นักศึกษา ไม่ชอบจดบันทึกทั้งที่วิธีดังกล่าวจะช่วยเด็กได้คิดและช่วยจำ แต่กลับใช้สมาร์ตโฟนถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงแทน ซึ่งต่่อมา นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขานรับความเห็นของนายกรัฐมนตรีด้วยการขอให้สถานศึกษาทุกระดับ เข้มงวดในเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน พร้อมกับแสดงความเห็นว่า การใช้เครื่องมือสื่อสารจะให้นักเรียน นักศึกษาใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนเท่าที่จำเป็นเพื่อติดต่อกับผู้ปกครองเท่านั้น

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและนักศึกษาใหม่ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า เป็นการพยายามพูดอะไรที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอะไร เหมือนเป็นคนแก่ออกมาบ่น เวลาอะไรไม่ได้ดั่งใจ ที่น่าสลดคือข้าราชการทั้งหลายก็เป็นลูกขุนพลอยพยัก เห็นดีเห็นงามไปด้วย แต่สำหรับตน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ง่ายขึ้นมาก รุ่นน้องที่ไปแลกเปลี่ยนได้มาเล่าให้ผมฟังว่า ที่ต่างประเทศบางทีครูจะอัพโหลดเนื้อหาขึ้นอินเตอร์เน็ตให้นักเรียนเข้าถึงได้เลยด้วยซ้ำ

“นวัตกรรมการเรียนรู้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องพัฒนาให้ทันสมัย แต่ยังมีประเด็นที่สำคัญกว่า เช่น การจัดบรรยากาศในการเรียนรู้ การใช้อำนาจของครู และที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของเนื้อหาที่เรียน เพราะต่อให้สอนดีเท่าใด แต่เนื้อหายังคงมีปัญหา ยังคงเป็นเนื้อหาที่ยังโบราณ ไม่เคารพความเป็นตัวเองของนักเรียน การศึกษาก็จะยังมีปัญหาอยู่ดี” นายพริษฐ์ กล่าวเมื่อถามถึงเทคโนโลยีส่งผลต่อการเรียนรู้มากแค่ไหน

นายพริษฐ์ระบุอีกว่า ทุกวันนี้เราเชื่อในการรวมศูนย์เดินไป เรารวมศูนย์การศึกษาเพราะเราเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาเป็นเอกภาพ แต่เราลืมไปว่าการศึกษาไม่ใช่เอกภาพแต่เป็นความหลากหลาย การที่การศึกษาผูกติดกับผู้มีอำนาจส่วนกลางย่อมส่งผลให้การศึกษาไม่ตอบสนองรายละเอียดแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหทือนกัน และจะทำให้การศึกษาต้องโอนเอนไปมาตามความพอใจของผู้มีอำนาจ ดังเช่นกรณีนี้

ขณะที่ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ที่นอกจากเป็นนักกิจกรรมแล้ว ยังเป็นครูระดับชั้นประถม มองถึงเรื่องนี้ว่า เทคโนโลยีมีไว้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง หมายความว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยเวลาและต้นทุนที่น้อยลง สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม วิถีชีวิตประชากร และการศึกษาหาความรู้ ชีวิตมนุษย์ในโลกที่มีประชากรมากขึ้นและทรัพยากรลดลงทุกวัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมห้องเรียนในโลกที่หนึ่งจึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลนีเพื่อการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถม

“ทักษะการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่จึงอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือในเวลาอันรวดเร็วและสามารถประยุกต์ใช้ให้ทันต่อความต้องการในการพัฒนา เมื่อมองจากเหตุผลนี้ การใช้สมาร์ตโฟน ถ่ายภาพข้อมูลในชั้นเรียนเพื่อนำไปใช้ต่อหรือทบทวนสังเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลเดียวกับการใช้เทคโนโลยีในบริบทอื่นๆ กล่าวคือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ” น.ส.ณัฏฐา กล่าว

น.ส.ณัฏฐา กล่าวอีกว่า การที่มีผู้ใหญ่บางคนมองว่าการใช้เทคโนโลยีเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในห้องเรียนจึงเป็นมุมมองที่สวนทางกับทิศทางพัฒนาการของโลก แต่อคติแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่พบบ่อย โดยเฉพาะในบริบทของสังคมอนุรักษ์นิยม ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และมักเกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรม (Culture Shock) เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปรับตัว

“สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรทำจึงไม่ใช่การห้ามนักศึกษาใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียน แต่เป็นการปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการเรียนรู้ให้ทันต่อโลกสมัยใหม่ สร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีปริมาณมากมายกว่ายุคสมัยใดๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” น.ส.ณัฏฐา ระบุทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ล่าสุด (20 กรกฎาคม) นายชัยพฤกษ์ได้ออกมาชี้แจงว่า การนำโทรศัพท์มือถือของเด็กเข้าห้องเรียนนั้น เป็นการกำชับสถานศึกษาใช้ดุลยพินิจในการนำโทรศัพท์มือถือของผู้เรียนเข้าห้องเรียน ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับหรือห้าม แต่ให้ดูความเหมาะสม หากใช้เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนจะต้องคำนึงถึงเนื้อหาวิชาที่สอน ระดับชั้นเรียนซึ่งต่างกันตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยถึงปฐมวัย ความพร้อมของผู้เรียนและครู

ทั้งนี้ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีห่วงใยในเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กนั้นก็เพราะว่าอยากให้เด็กมีทักษะทางภาษาครบทั้ง 4 ด้าน คือ การ ฟัง พูด อ่าน และเขียน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งก็ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ