ร่าง”สัญญาประชาคม”ออกมา กับการลงมือ”ปฏิบัติ”โดยรัฐบาล

กรณี “ปรองดอง” กำลังจะกลายเป็น “เผือกร้อน” อยู่ในมือของรัฐบาล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยืนยัน

“คนที่รับผิดชอบหากปรองดองไม่สำเร็จก็คือ คนไทยทั้งประเทศ”

แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่แน่ว่าจะเป็น “คนไทย”

หากย้อนกลับไปสำรวจรากฐานความเป็นมาและกระบวนการของการปรองดองก็จะมองเห็นได้อย่างเด่นชัด

โครงการ”ปรองดอง”เริ่มจาก “รัฐบาล”

เป็นรัฐบาลโดยการมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามารับผิดชอบในการขับเคลื่อน

โดยขับเคลื่อนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์

ถามว่าพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม มีท่าทีอย่างไร

ตอบได้เลยว่าตั้ง “ความหวัง”

เพราะเห็นในเครดิตของคสช. เครดิตของรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

อันยกย่องกันว่าเป็น “พี่ใหญ่”

ทุกพรรคการเมืองที่ได้รับเชิญ ทุกกลุ่มการเมืองที่ได้รับเชิญไม่เพียงแต่ตั้ง “ความหวัง” หากเดินทางเข้าร่วมและเสนอผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมอย่างคึกคัก

ไม่ว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ จากเพื่อไทย ไม่ว่า นายจตพร พรหมพันธุ์ จากนปช.

จากนั้นก็เฝ้ารอว่า”ปรองดอง”จะเกิดขึ้นอย่างไร

อย่าคิดว่าจะมีแต่พรรคเพื่อไทย นปช. เท่านั้นที่เฝ้ารอ หากพรรค ประชาธิปัตย์ พันธมิตร กปปส.ก็เฝ้ารอ

เวลาจากเดือนกุมภาพันธ์”วันวาเลนไทน์”

เดิมคาดหมายว่าเดือนเมษายน “วันสงกรานต์” ทุกอย่างจะสำเร็จ สะเด็ดน้ำ

เนิ่นนานมาจนถึงเดือนกรกฎาคม

พลันที่เห็นร่าง”สัญญาประชาคม”ทุกฝ่ายก็ถอนหายใจด้วยความโล่งอกเท่ากับว่า”สัญญาประชาคม”อยู่ในมือของ”รัฐบาล”แล้ว

จะ”ปฏิบัติ” หรือ”ไม่ปฏิบัติ”ทุกสายตาย่อมจับไปยัง”รัฐบาล”