“บิ๊กสร้าง”ถกปฏิรูปตร.3ชม. เน้นปมแต่งตั้งนานที่สุด เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยระบบอาวุโส หวั่นเฉื่อยชา

เมื่อวันที่19กรกฎาคม ที่ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ครั้งที่3 ร่วมกับคณะกรรมการฯ โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เดชณงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผบ.ตร. พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผบ.ตร. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผบช.รร.นรต. และ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ในฐานะโฆษกฯ และคณะกรรมคนอื่นๆ ใช้เวลาการประชุมกว่า3 ชั่วโมง

นายสมคิด กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งกรรมการในคณะอนุกรรมการทั้ง5ชุด หลังจากนี้จะแยกย้ายกันไปหารือ เช่น คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ และ ชุดรับฟังความเห็น จะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่21กรกฎาคมนี้ ส่วนคณะอนุกรรมการชุดอื่นจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์ต่อไป โดย พล.อ.บุญสร้าง ยังคงเน้นย้ำให้ที่ประชุมใหญ่ต้องหารือกันสัปดาห์ละ2ครั้ง โดยจะดำเนินการไปจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม คาดการณ์ว่าแนวทางการปฏิรูปตำรวจจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การแก้ไขในกระบวนการกฎหมายต่อไป

นายสมคิด กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังทราบรายงานความเห็นการปฏิรูปตำรวจขององค์กรต่างๆ ที่มี6ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ,สภาปฏิรูปแห่งชาติ,สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ,อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ,คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผลการศึกษาส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกัน ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ตำรวจ เรื่องการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายโดยใช้ระบบคุณธรรม รวมถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องมีอิสระต่อผู้บังคับบัญชา

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ประเด็นที่วันนี้ใช้เวลาในการอภิปรายมากที่สุด คือ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ มาตรา 260 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี หากทำไม่เสร็จ การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2561 จะต้องใช้ระบบอาวุโสเพียงอย่างเดียว เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเป็นห่วงว่าการใช้ระบบอาวุโสเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาเรื่องผลงาน อาจทำให้ตำรวจมีความเฉื่อยชาในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จำเป็นต้องเร่งพิจารณาเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ส่วนการปฏิรูปด้านอื่นๆ ยังคงมีเวลาดำเนินการได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2561 ถือเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่

นายสมคิด กล่าวถึงการกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2560 ด้วยว่า การปฏิรูปเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะต้องนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ที่ประชุมทราบว่า เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจนแล้วเสร็จ จะต้องส่งเรื่องไปให้รัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมาย จะเห็นชอบหรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล จากนั้นจะต้องส่งต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่อไป ทั้งหมดค่อนข้างจะใช้เวลามาก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันเวลาการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2561

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเค้าโครงการปฏิรูประบบแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในอนาคต โดยพูดถึงผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) การแต่งตั้งตำรวจระดับรองผู้บัญชาการและรองผู้บังคับการ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแทรกแซงของนักการเมือง การซื้อขายตำแหน่ง ประเด็นทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติ และกำหนดวันประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม เวลา09.00น. โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาการใช้สถานที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)และรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบระยะเวลาที่เหลือค่อนข้างจำกัด โจทย์ที่นายกรัฐมนตรีมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปฯจะเสร็จทันหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ตามสูตร2-3-4 จะเสร็จภายในวันที่5 เมษายน แต่ทางคณะกรรมการจะต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องเสร็จก่อนเดือนธันวาคม2560ไม่ถึงเมษายน2561แน่นอน

เมื่อถามว่า ถ้าถึงวันที่5 เมษายน จะได้ความชัดเจนทั้งเรื่องโครงสร้างองค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะไปอยู่ที่ไหน อย่างไร สังกัดใด นายสมคิด กล่าวว่า แน่นอน พล.อ.บุญสร้าง ประธานคณะกรรมการฯนัดประชุมสัปดาห์ละ2 วัน จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เข้าใจว่าถ้าถึงสิ้นเดือนสิงหาคม คงจะรู้ความชัดเจนหมดแล้ว เพียงแต่ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ว่าจะปรับแก้ตรงไหน ไปแก้กฎหมายส่วนไหน โดยจะจัดให้รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งว่าโมเดลที่คณะกรรมการกลั่นกรองมานั้นเป็นอย่างไร มีตรงไหนต้องปรับเพิ่มเติม