ครป.แนะ ตร.คฝ. จริงใจ ไม่พกปืน-อาวุธใกล้จุดชุมนุม จี้รัฐหยุดฟ้องร้องคนเห็นต่าง

ครป.แนะคฝ. แสดงความจริงใจ ไม่พกปืน-ระเบิดใกล้จุดชุมนุม จี้รัฐหยุดฟ้องร้องคนเห็นต่าง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม สืบเนื่องการนัดหมายชุมนุมของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก เวลา 13.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกันแถลงข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีแนวโน้มจะขยายความรุนแรงขึ้น

ในตอนหนึ่ง นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. กล่าวว่า การเจรจาหาทางออกเป็นกลไกสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้ง โดยขอให้รัฐยุติการฟ้องร้องและการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองซึ่งสร้างความขัดแย้งและความร้าวฉานของสังคม รวมถึงสร้างภาระให้กระบวนการยุติธรรม ขอให้กลุ่มมวลชนหรือผู้ที่มีความเห็นต่างหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับการชุมนุมของกลุ่มที่เห็นต่างจนเกิดการปะทะขยายความขัดแย้งไปไกลเกินกว่าที่จะจัดการได้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่บริหารจัดการมิให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เห็นต่างที่ต่างก็มีกำลังของตนเองโดยเด็ดขาด

ประธาน ครป. กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรระงับการใช้กำลังอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนทุกนาย ไม่สมควรพกพาอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิดเข้าใกล้พื้นที่การชุมนุมโดยเด็ดขาด เพื่อแสดงความจริงใจในการบริหารจัดการชุมนุมตามหลักสันติวิธี เช่นเดียวกับฝ่ายผู้บริหารจัดการการชุมนุมก็ต้องกำชับให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและฝ่ายรักษาความปลอดภัยยึดหลักสันติวิธีอย่างเคร่งครัด จึงจะเกิดความชอบธรรมแก่การปฏิบัติภารกิจ หากการใช้อาวุธตั้งอยู่บนฐานความรู้สึกที่ โกรธ เกลียดชัง และหวาดกลัว เต็มไปด้วยอคติ ย่อมนำมาซึ่งความรุนแรงและก่อให้เกิดสูญเสียในที่สุด และต้องสำนึกไว้เสมอว่า อย่าให้เกิดการนองเลือด ประเทศไทยสูญเสียมามากเพียงพอแล้วในเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต

“หนทางที่ดีที่สุด รัฐบาล หรือรัฐสภาควรมีบทบาทในการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้หลักรัฐศาสตร์ ด้วยการ เปิดพื้นที่การเจรจาหารือในสาระสำคัญอย่างเปิดเผย เฉกเช่นประเทศอารยะ ในรูปแบบ Public Inquiry หรือ Public Consultation เพื่อให้เกิดบรรยากาศในการสร้างความเข้าใจในประเด็นปัญหาข้อเรียกร้อง หรือข้อพิพาท ด้วยสติปัญญา และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ไม่สมควรที่จะทิ้งให้ปัญหาเรื้อรัง ค้างคาใจ จนก่อให้เกิดความรุนแรงที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่อยู่ในวิสัยที่จะเปิดพื้นที่กลางในการเจรจาหารือเช่นนี้ ประธานรัฐสภาย่อมมีบทบาทสำคัญยิ่งในการ เปิดพื้นที่กลาง เช่นนี้ขึ้นได้ ซึ่งเรา เชื่อว่าน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการคลี่คลายปัญหาได้เป็นอย่างดี” นายบุญแทน กล่าว

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่าตนขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ประธานรัฐสภา หัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานศาลฎีกา ฝ่ายตุลาการ รวมทั้งผู้นำกองทัพและผู้บัญชาการตำรวจทุกนาย ร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง และให้ยึดถือจารีตประเพณีและหลักปฏิบัติสากลในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก สิทธิทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ในการสั่งการหรือดำเนินการใดกับผู้ชุมนุมหรือผู้เห็นต่าง โดยอย่าอ้าง พรก.ฉุกเฉินฯ มติคณะรัฐมนตรี หรือการดำเนินมาตรการต่างๆ ว่าอยู่ในกรอบกฎหมายปกติ เนื่องจากเป็นคำโกหกเพราะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทั้งสิ้น

“ที่ผ่านมาการเข้าสู่อำนาจของนายกฯ และรัฐธรรมนูญนอกจากไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วยังทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย และทุกภาคส่วนไม่เคยมีคำตอบให้ประชาชนที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากการดำเนินคดีและจับเข้าคุก จึงทำให้เกิดการประท้วงที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เสนอให้ทุกภาคส่วนทบทวนการทำงาน กฎหมาย หรือคำสั่งใดที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือหลักสากลให้รีบแก้ไข และยังไม่สายที่นายกฯ จะหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เนื่องจากภาคประชาชนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ” นายกษิตกล่าว