“กมธ.กระจายอำนาจปกครองส่วนท้องถิ่น” เสนอ “มท.-สถ.” ช่วยเหลือปชช.ได้รับผลกระทบจากสถานธนานุบาล

“กมธ.กระจายอำนาจปกครองส่วนท้องถิ่น” เสนอ “มท.-สถ.” ช่วยเหลือปชช.ได้รับผลกระทบจากสถานธนานุบาล อปท. ช่วงโควิด แก้ระเบียบให้อปท.จัดซื้อ ATK ด้าน “สฤษฎ์พงษ์” ลั่น ไม่ควรรวมอำนาจไว้ศูนย์กลาง ทำนายอนาคต รบ.กู้เงินเกินเพดานแน่

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พร้อมด้วยนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหาราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายซูการ์โน มะทา เป็นประธาน กมธ. แถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยนายโกวิทย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (4 สิงหาคม) ที่ประชุม กมธ. มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับใช้ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการจัดการ สถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จ.ส.ท.) ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำของสถานธนานุบาลของเทศบาลนครยะลา ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดย กมธ. มีมติให้เสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน เช่น เพิ่มมาตรการขยายระยะเวลาการไถ่ถอนทรัพย์จำนำให้ครอบคลุมระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำหนดมาตรการลดดอกเบี้ย รวมถึงเลื่อนหรือชะลอการจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำในระหว่างระยะเวลาการแพร่ระบาดโควิด-19

นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า ควรมีการกำหนดราคาในการซื้อคืนทรัพย์ที่หลุดจำนำให้แก่ผู้จำนำในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม เช่น การกำหนดราคาซื้อคืนโดยคิดจากราคาทรัพย์ที่จำนำบวกกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการรับจำนำจนกระทั่งถึงวันซื้อคืนทรัพย์ และควรมีแนวทางแก้ไขเยียวยากรณีที่ทรัพย์หลุดจำนำ รวมทั้งควรแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์ในการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงควรมีการพิจารณาการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ของ อปท. และแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้อปท.สามารถจัดซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ด้านนายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้ประชาชนมาแออัดกันที่โรงพยาบาลหรือที่ตรวจคัดกรอง แต่อยากให้อยู่ในบ้าน แล้วให้อปท.ซื้อชุด ATK แจกผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออสม. ไปบริการถึงบ้าน ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งด่านในพื้นที่ที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตรวจคัดกรอง ซึ่งปรากฏว่าเครื่องวัดอุณหภูมิ ชุดป้องกัน PPE ก็ไม่มี ซึ่งเสี่ยงมากต่อการติดโควิด-19 จึงอยากให้จังหวัดที่ตั้งด่านหากอุปกรณ์เครื่องมือไม่พร้อมก็อย่าไปทำเลย นอกจากนี้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากมีหลักการว่าประชาชนที่ผ่านด่านได้รับการฉีดวัคซีนหรือยัง หากยังไม่ได้รับการฉีดต้องมีหนังสือรับรองจากการสวอปหรือ ATK ซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทเอกชนไปตั้งซุ้มก่อนถึงด่านตรวจ แล้วคิดค่าบริการประชาชนคนละ 500 บาท จึงเกิดความคิดที่ว่าตำรวจหรือคณะกรรมการในด่านซูเอี๋ยกับภาคเอกชนเพื่อรีดไถประชาชน ตนอยากให้ประชาชน 1 คน ภายใน 1 เดือน มีชุดตรวจ ATK 4 ชุด คือใช้ตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วให้ อสม. ไปตรวจและออกหนังสือรับรอง หากครอบครัวใดผลตรวจเป็นบวกหรือมีความเสี่ยงให้สวมริสแบนด์ที่ข้อมือ นำธงแดงไปปักหรือเชือกขาวไปผูกที่รั้วบ้านเพื่อให้ประชาชนทราบว่าบ้านหลังนี้มีความเสี่ยง

“การแก้ปัญหาไม่ควรรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ควรให้ อปท. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และกำนันผู้ใหญ่บ้าน จับมือประสานกันต่อสู้เรื่องนี้ และให้อปท.ใช้เงินงบประมาณของตัวเองซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพที่ประชาชนเชื่อมั่นและ ATK โดยรัฐบาลจะต้องชดเชยเงินที่เบิกมาใช้ก่อน ซึ่งภายในไม่เกิน 2 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที และจะควบคุมสถานการณ์ได้ หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไขก็จะส่งผลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ผมทำนายว่าเงินกู้ 3.1 ล้านล้านบาทและ 7 แสนล้านบาทไม่เพียงพอ ในอนาคตรัฐบาลจะต้องกู้เงินทะลุเพดานระเบียบการเงินการคลังแน่นอน” นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าว