สธ.ชี้ทำโฮม-คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่นในผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มเขียว ช่วยลดใช้เตียงใน รพ.

สธ.ชี้ทำโฮม-คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่นในผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มเขียว ช่วยลดใช้เตียงใน รพ.

วันนี้ (1 ส.ค.64) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้ปรับมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จากสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดได้รวดเร็ว ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ความต้องการเตียงจึงมีมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีประมาณร้อยละ 15 ที่มีอาการปานกลางหรืออาการรุนแรง ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล และต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ ซึ่งส่วนมากอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง รวมถึงคนอ้วน ซึ่งส่วนใหญ่อีกร้อยละ 85 จะมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน ทำลายเชื้อโรคได้ดี สามารถทำโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) อยู่ที่บ้านได้ และต้องทำการกันป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อสู่คนในครอบครัวรวมทั้งพี่น้องที่อยู่ด้วย แต่หากไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ จะนำมาอยู่รวมกันเป็นคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) โดยให้ชุมชนช่วยกันดูแล เพื่อจะได้
มีเตียงเพียงพอสำหรับให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลือง สีแดงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่” รองปลัด สธ.กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า หลังทราบผลการติดเชื้อ ให้ตรวจสอบอาการตนเอง หากไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ไม่มีอาการหายใจเร็ว หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ สามารถอยู่ที่บ้านได้ ให้โทรไปได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 จะได้รับการติดต่อกลับพร้อมนำชุดเซ็ตในการดูแลตัวเองที่บ้านไปให้ เช่น ปรอท ที่วัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ รับประทานที่บ้านได้ และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานติดตามอาการวันละ 2 ครั้ง หากเริ่มมีอาการที่หนักขึ้น เช่น หายใจติดขัด ไอ แน่นหน้าอก ออกซิเจนต่ำ ฯลฯ จะมีรถไปรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล