“มาร์ค”‘หนุน กม.ดัดหลังคนหนีคดี ชี้ไม่ขัดหลักยุติธรรม เหตุจำเลยรู้ตัว-ได้สิทธิ์อุทธรณ์

“มาร์ค”‘หนุน กม.ดัดหลังนักหนีคดี ชี้ไม่ขัดหลักยุติธรรม เหตุจำเลยรู้ตัว-อนุญาตตั้งทนาย-ให้สิทธิ์อุทธรณ์ ระบุ “คดีที่ดินรัชดา” ได้ตัว “ทักษิณ” เมื่อไหร่ต้องรับโทษ

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีร่างพ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า กฎหมายดังกล่าวพยายามแก้ไขปัญหาคนที่มีอิทธิพลหนีคดี และเนื้อหามีความระมัดระวังไม่ให้กระทบกับหลักความยุติธรรม ทั้งนี้ ควรจะสนับสนุนมาตรการใดก็ตามที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น เพราะการอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง จากการตรวจสอบกฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีปัญหาดังกล่าว เพราะหลักไม่พิจารณาคดีลับหลัง แต่บางประเทศก็อนุญาตไว้เหมือนกับบ้านเรา ซึ่งพบว่าการจะพิจารณาคดีลับหลังได้นั้น โดยจะมีเงื่อนไขว่า จำเลยได้รับการแจ้ง หรือรู้ว่าจะมีการดำเนินคดี อีกทั้งจำเลยมีสิทธิ์ตั้งทนายต่อสู้

“ดังนั้น จึงเข้าใจว่าประเด็นที่ไม่เห็นด้วยให้พิจารณาคดีลับหลังนั้น อาจเป็นกรณีที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ไม่มีสิทธิ์ต่อสู้ และอยู่ดีๆก็นำเขาขึ้นศาลเพื่อพิพากษา แบบนั้นไม่ยุติธรรมแน่นอน แต่สำหรับกฎหมายที่บ้านเราอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังนั้น เป็นการแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จงใจไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นถือว่าไม่น่าขัดกับหลักความยุติธรรม โดยเฉพาะจำเลยสามารถตั้งทนายต่อสู้ได้ อีกทั้งยังกำหนดว่าหากจำเลยตัดสินใจกลับมาสู้และมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะส่งผลต่อคำพิพากษาสามารถรื้อฟื้นคดีได้ ซึ่งเป็นสิทธิ์นอกจากอุทธรณ์คดีซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือเป็นการให้ความยุติธรรมกับจำเลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อโต้แย้งในร่างกฎหมายของบทเฉพาะกาล มาตรา 67 ที่ให้โทษย้อนหลังนั้น ตามหลักทั่วไปการมีโทษย้อนหลังที่ไม่ควรเกิดขึ้นมี 2 กรณี คือ 1.ขณะที่กระทำนั้นไม่ผิด แต่ต่อมากฎหมายมาบอกว่าผิด การย้อนหลังดังกล่าวถือว่าไม่ได้ เพราะขัดหลักยุติธรรม และ2.ขณะทำความผิดมีโทษอีกแบบหนึ่ง ต่อมาออกกฎหมายให้โทษรุนแรงขึ้น แล้วย้อนหลังกับผู้กระทำความผิดก่อนหน้านั้น ตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลบอกว่าทำไม่ได้ แต่สำหรับร่างพ.ร.ป.ไม่ได้เพิ่มความผิดทางอาญา หรือนำโทษหนักกว่าไปย้อนหลังกับการกระทำก่อนหน้านี้ แต่เป็นเรื่องวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

เมื่อถามว่าร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว จะมีผลต่อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกตัดสินไปแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในบทเฉพาะกาล เขียนแค่ว่าส่วนที่ดำเนินการไปแล้วไม่ได้รับผลกระทบ โดยกรณีของนายทักษิณจะมี 2 ลักษณะ คือ 1.ศาลตัดสินแล้ว และ2.คดีที่ยังไม่ได้เริ่มต้น หรือหมายความว่าสิ่งที่ยังไม่ได้เริ่มต้นหรือศาลตัดสินไปแล้วไม่มีผลกระทบ และถ้าถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็ตอบว่าดำเนินการตามร่างพ.ร.ป เพราะฉะนั้นคดีที่ยังไม่ได้เริ่มต้นหรือศาลจำหน่ายชั่วคราวเพราะจำเลยไม่อยู่ก็ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.ป.ยังระบุด้วยว่าคดีที่ตัดสินแล้วไม่นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้ หมายความว่า คดีรัชดาที่นายทักษิณยังไม่ได้รับโทษนั้น ถ้าได้ตัวมาเมื่อไหร่จะต้องรับโทษไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม