นายกสมาคมทนาย ชี้ให้อำนาจ กสทช.ฟันเฟคนิวส์ ตัดอำนาจศาล ผิดรธน.หลายมาตรา-กฎหมายอื่นอื้อ

“นรินท์พงศ์”นายกสมาคมทนายชี้ ข้อกำหนดนายกฯ ให้อำนาจ กสทช.ฟันเฟคนิวส์ ตัดอำนาจศาล ผิด รธน.หลายมาตรา-กฎหมายอื่นเพียบ ระบุ การตรากฎหมายต้องเพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่เเค่ความมั่นคงรัฐบาล

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ลงวันที่ 29 ก.ค. 64นั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ดังนี้

(1) ตามข้อกำหนดข้อ 1 ที่ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว นั้น เป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้เฉพาะเพียงเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจการนำเสนอข่าวหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด

(2) การห้ามนำเสนอข่าว สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจะกระทบไปถึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลบางกลุ่ม เช่น นักประพันธ์หนังสือหรือผู้สร้างภาพยนตร์แนวสยองขวัญหรือฆาตกรรม ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความหวาดกลัวมากที่สุดเพื่อผลทางการค้าและความบันเทิง โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19แต่การประกอบอาชีพของบุคคลดังกล่าวกลับถูกห้ามตามข้อกำหนดข้อ 1

(3) ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แทนก็ได้ นั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จะต้องเป็นบุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคม หรือสื่อสังคมออนไลน์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 แต่ตามข้อกำหนดข้อ 2 กลับให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ซึ่งมิได้เป็นบุคคลที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อกำหนดนี้จึงขัดต่อกฎหมายและขัดกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563ดังกล่าว

(4) ส่วนการให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรเป็นผู้วินิจฉัยว่าข้อความหรือข่าวสารใดขัดต่อข้อกำหนดข้อ 1 ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 194 แล้ว การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยดังกล่าว จะกระทำได้เฉพาะผู้ที่เป็นบุคคลเท่านั้น ส่วนสำนักงาน กสทช. มิได้เป็นบุคคล จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจตามคำสั่งดังกล่าวได้

(5) นอกจากนี้ การให้อำนาจสำนักงาน กสทช. มีอำนาจสั่งให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ในไอพี (IP address) ที่ใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อมูลดังกล่าวทันที เท่ากับเป็นการปิดกิจการของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นที่ดำเนินกิจการทางออนไลน์ จึงขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 35 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่รักษาและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนศาล หรือฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสินกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การที่กฎหมายยกเว้นให้ฝ่ายบริหารสามารถออกข้อกำหนดที่มีสถานะเป็นกฎหมายได้ก็เฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น แต่กฎหมายมิได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการในการวินิจฉัยผิดถูกด้วย การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ทันที พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลพึงตระหนักว่า อำนาจและงบประมาณที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นของประชาชนและมาจากภาษีอากรของประชาชน รัฐบาลที่ดีจึงต้องรับฟังความคิดเห็นและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้การตรากฎหมายหรือออกข้อบังคับใด ๆ นอกจากจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล