ลุงป้อม มอบ กอนช. ติดตามฝนพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ช่วยเติมน้ำทั่วไทย เก็บกักน้ำฤดูแล้งหน้า เตือน 8 จว.เฝ้าระวังน้ำโขง

วันนี้ 30 กรกฎาคม 2564 พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำของประเทศไทยและได้มอบหมายให้ กอนช. ติดตามอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ในช่วงวันที่ 20 – 27 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งนับว่าส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลลงแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลเข้าจริง จำนวน 2,032.05 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 197.58 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 378.26 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 70.25 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 6.58 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 6.69 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 277.40 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 51.84 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 51.55 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 10.85 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 1,261.49 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 344.88 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 56.77 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 29.36 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบภาคที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากขึ้นจากน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดู ณ 1 พ.ค. 64 ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลเข้าจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” นี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยเติมน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณที่มีน้ำไหลเข้ามากที่สุดถึง 894.74 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อต้นฤดูซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 3,733.67 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (27 ก.ค. 64) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 4,427.83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.98 ของความจุทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 694.16 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ปัจจุบันระดับน้ำกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อยอื่น ๆ ที่มีน้ำไหลเข้าจำนวนมาก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำไหลเข้า 325.58 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้า 153.54 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้า 129.01 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยการเร่งเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งถัดไป

แม้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำจากอิทธิพลของพายุเจิมปากาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย แต่ก็ยังมีพื้นที่โดยเฉพาะลำน้ำสายหลักที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กอนช.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำทุกแห่งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง และได้ออกประกาศฉบับที่ 6/2564 ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เรื่อง แจ้งเตือนสถานการณ์แม่น้ำโขง ตามที่ได้การประสานจากกระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีนแจ้งการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงข่ายพลังงาน ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ กอนช.ได้คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเนื่องจากการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง จากเดิม 900 – 1,300 ลูกบาศก์บาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 700 ลูกบาศก์บาศก์เมตรต่อวินาที พบว่า ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ลดลง 0.50 เมตร แต่เมื่อพิจารณาปริมาณฝนคาดการณ์ในพื้นที่แล้ว ยังคงมีฝนตกกระจายตัวในช่วง 3 – 5 วัน ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง พบว่า ระดับน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ได้แก่ 1. จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.50 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.55 เมตร 2.จังหวัดเลย ระดับน้ำคงที่ ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.02 เมตร 3. จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำลดลง 0.70 เมตร ช่วงวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.27 เมตร 4. จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำลดลง 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.58 เมตร 5. จังหวัดนครพนม ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.10 เมตร ช่วงวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.3 เมตร 6. จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.85 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.10 เมตร 7. จังหวัดอำนาจเจริญ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.55 เมตร และ 8. จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลง 0.20 เมตร ช่วงวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.94 เมตร

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ กอนช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เตรียมความพร้อม และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้วย.

ที่มา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ