วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : โควิดกับความมั่นคงของชาติ

ความมั่นคง (security) คือ ความปลอดภัยและพร้อมรับมือกับสภาวะหายนะฉับพลัน (sudden downfall/ catastrophe)

หายนะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันมาได้จากหลายสาเหตุและหลายรูปแบบ ในหลายกรณีเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น สงคราม การก่อการร้าย การปกป้องภัยเหล่านี้จึงถือเป็น “ความมั่นคง” ที่สำคัญ เช่น สหประชาชาติมีคณะมนตรีความมั่นคงเอาไว้ประชุมกันเพื่อป้องกันสงคราม แต่เท่าที่เห็นผลงานก็ป้องกันชาติเล็กไม่ไห้ถูกชาติใหญ่รังแกหรือรุกรานไม่ค่อยสำเร็จ ยิ่งประชุมไปประเทศใหญ่ก็ขายอาวุธยุทธปกรณ์ให้ประเทศเล็กได้มากขึ้นทุกที

ภายในประเทศ ความมั่นคงที่เราเคยกังวลกันส่วนใหญ่ก็มาจากมนุษย์เหมือนกัน ที่กลัวมาก ๆ ก็คือความคิดต่างอย่างรุนแรงจนถึงต้องทำลายล้าง ทำให้เกิดความเสียหายกับส่วนรวมเพื่อให้ตนเองประสบชัยชนะ ฝ่ายที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกว่านั่นคือปัญหาความมั่นคง ซึ่งจะต้องหาทางป้องกันและตอบโต้

ผมจะขออนุญาตไม่เข้าไปในเรื่องเหล่านั้น เพราะรังแต่จะโดนทัวร์ลง ผมจะหนีทัวร์ไปชวนคุยเรื่องความมั่นคงในส่วนที่เกี่ยวกับโควิดดีกว่า ก่อนอ่านต้องทำใจนิดหน่อยนะครับ บทความอาจจะสั่นคลอนความมั่นคงในใจของคุณบ้างทำให้รู้สึกแย่ในตอนแรก ถ้าทนอ่านถึงตอนท้ายได้ควรจะรู้สึกว่าต้องทำอะไรให้ชาติมั่นคงขึ้นบ้าง

 

การระบาดของโควิดเป็นหายนะอย่างฉับพลันของมนุษยชาติที่ชัดเจน นอกจากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว้างขวางจนเป็นโรคระบาดระดับโลก (pandemic) แล้ว ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ จนกระทั่งไม่สามารถควบคุมได้

หายนะที่สำคัญที่สุด คือ สุขภาพ การมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งจากโควิดเอง และจากความเสียหายของระบบบริการสาธารณสุขทำให้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ไม่สามารถรับบริการได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโควิดไม่น้อยแม้จะหายป่วยแล้วก็ยังจะมีอาการแทรกซ้อนทางสุขภาพในระยะยาว นักวิจัยในอเมริกาติดตามคนไข้โควิดที่เข้ารับการรักษาจนหายต่อเนื่องไปหลายเดือนพบว่ามีอาการแทรกซ้อนทั้งทางเดินหายใจและระบบประสาทถึงหนึ่งในสามเป็นอย่างน้อย

หายนะทางเศรษฐกิจและสังคมก็เป็นเรื่องที่ผู้คนต้องทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส จากการเจ็บป่วยที่ทำให้ครอบครัวต้องแตกแยกล้มหายตายจากในเวลาอันสั้น และ การมีชีวิตอยู่ที่นับวันจะลำบากเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ความเครียดเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตเลวลง คนไม่พร้อมที่จะอยู่สู้กับภาวะเหล่านี้ก็จบชีวิตตนเอง ในที่สุด การระบาดของโควิดอาจจะถึงจุดสูงสุดแล้วอาจจะลดลงเหมือนที่อินเดียเผชิญอยู่ จำนวนคนตายจากโควิดและการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลจะค่อย ๆ ลดลง จนกลับเข้าสภาพปรกติ แต่ ปัญหาสุขภาพจิต ชาดกำลังใจในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจะเป็นปัญหายืดเยื้อ กว่าจะกลับสภาพเดิมได้ต้องใช้เวลานาน

การรับรู้เรื่องเหล่านี้ด้านหนึ่งอาจจะทำให้จิดใจเศร้าหมองลงบ้าง แต่ในด้านดีก็คือจะทำให้เราต้องคิดเตรียมพร้อม หาทางหนีทีไล่ ลดความเสียหาย และฟื้นฟูกลับสภาพเดิมได้เร็ว

 

ความจริง ปัญหาความมั่นคงของประเทศจากโควิดมีมากกว่าและอาจจะร้ายแรงกว่าที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ เราทุกคนได้เห็นว่าเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของเราซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักได้รับความเสียหายเพียงไร ตอนนี้ถ้าตามวิเคราะห์ข่าว จะเห็นว่าระบบอุตสาหกรรมของเราโดนโควิดโจมตีเป็นบริเวณกว้าง คนงานติดเชื้อ โรงงานถูกปิด การส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของเราก็ต้องได้รับผลกระทบไม่น้อยอีกเหมือนกัน

อุตสาหกรรมของเราไม่เพียงแต่เพื่อส่งออก แต่ยังผลิตของกินของใช้ภายในประเทศด้วย ระบบอาหารของคนไทยในปัจจุบันจะต้องผ่านการผลิตในระดับโรงงาน ทั้งอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ นี่คือตัวอย่างของความมั่นคงทางอาหารของชาติ เมื่อคนงานในโรงงานหรือฟาร์มขนาดใหญ่ติดเชื้อ การผลิตก็ลดประสิทธิภาพลง สินค้าประเภทอาหารทั่วโลกจึงมีราคาสูงขึ้นในช่วงนี้ คนไทยซึ่งรายได้น้อยลงอย่างฉับพลันอยู่แล้วยังอาจจะต้องเผชิญกับต้นทุนอาหารที่ราคาแพงขึ้น ชีวิตคงจะลำบากขึ้นไปอีก ยังโชคดีที่ไทยเรามีความสามารถผลิตอาหารไปเลี้ยงประชากรได้ถึงสี่เท่าของประชากรไทย เราจึงยังมีอาหารสำรองอยู่ไม่น่าจะถึงกับทำให้คนไทยต้องอดตาย

การบริการสาธารณสุขพ่ายแพ้ต่อโควิด ภาคการท่องเที่ยวหมดสภาพไปแล้ว ภาคอุตสาหกรรมกำลังแย่ ยังดีที่ในภาคบริการพื้นฐานของสังคมไทยยังได้รับการกระทบกระเทือนไม่มาก ผมหมายถึงระบบสาธาธารณูปโภคหลัก ๆ ยังอยู่ได้ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสาร คมนาคม แต่ถ้าเราไม่ตรวจสอบความมั่นคงของระบบบริการเหล่านี้ โควิดสามารถเข้าโจมตีระบบหลักเหล่านี้ได้ เราจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร ถ้าไฟดับ น้ำประปาไม่ไหล ระบบการสื่อสารใช้ไม่ได้ เราจะเป็นอย่างไร

ผมอยากเชื่อมั่นว่าเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นจะไม่เกิด แต่วันนี้ก็มีข่าวร้ายว่าระบบการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนเริ่มรวนเร เนื่องจากพนักงานที่บริการติดเชื้อโควิด หวังว่าจะไม่มีข่าวร้ายกว่านี้

 

มาถึงจุดนี้ เราต้องรักษาความมั่นคงที่เหลือไว้ ไม่ให้โควิดโจมตีได้ ถ้าระบบหลักอีกหลายระบบยังดีอยู่ เราคงมีทางที่จะค่อย ๆ กู้ระบบที่ล่มไปคืนขึ้นมาได้ แล้วเราก็จะกลับเข้าสภาพเดิมและฟื้นคืนได้

ในการรักษาความมั่นคงที่เหลือยามนี้ การประเมินความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงของทุกระบบเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ทุกวันนี้โรคยังระบาดอย่างหนักและวัคซีนก็ยังมาไม่พอใช้ ฉีดได้ไม่ทั่ว นอกจาก work from home แล้ว หน่วยงานสำคัญ ๆ ที่ยกตัวอย่างมาข้างบนที่แผนสำรองอย่างไร ถ้ามีการติดเชื้อของพนักงาน จะกักตัวหรือไม่ อย่างไร ควรมีกำลังสำรองมากกว่าปรกติเท่าไหร่ จะมีกำลังสำรองในระดับนั้นได้อย่างไร

เมื่อเกิดมหันตภัยสึนามิในปลายปี พ.ศ. 2547 จังหวัดอาเจะห์ประเทศอินโดนีเชียเสียหายยับเยินผู้คนเสียชีวิตนับแสน ต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะฟื้นคืนได้ ภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้รับความเสียหาย ไม่รุนแรงเท่า และฟื้นคืนสภาพได้รวดเร็วกว่ามาก

ความแตกต่างของภาคใต้ไทยกับอาเจะห์อยู่ที่บริบทพื้นฐาน อาเจะห์ก่อนสึนามิอยู๋ในภาวะสงคราม มีคนตายจากยุทธการการทหารถึงสองหมื่น ตัวเมืองหลวงของจังหวัดคือบันดาอาเจะห์อยู่ห่างจากเมืองใหญ่ที่ใกล้ที่สุด คือ เมดาน ออกไปถึง 12 ชั่วโมงเส้นทางคมนาคมมีแต่ถนนแคบ ๆ ซึ่งมีการซุ่มโจมตี หน่วยความช่วยเหลือหน่วยแรกที่เข้าไปกู้ชีพคือกองทัพเรือสหรัฐที่มีแสนยานุภาพและกำลังพล แต่กว่าจะไปถึงก็ใช้เวลา 2-3 วัน ไม่ต้องพูดถึงจาการ์ต้าที่ยังเป็นคู่รบพุ่งกันกับอาเจะห์เป็นเดือนก็ยังไม่มา

ส่วนภาคใต้ประเทศไทย ฐานการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศยังพร้อมสรรพ ความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าไปถึงพื้นที่ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ระดับของการพัฒนาของสังคมจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้ความหายนะจมลึก ลองคิดถึงประเทศเมียนมาร์ที่ยังมีปัญหาการรัฐประหารอยู่ พวกเจ็นแซดพม่าเข้าป่าไปฝึกทหารจากชนกลุ่มน้อย อย่างนี้อีกนานเท่าไรจึงจะฟื้นจากโควิดได้ ตอนนี้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนโดนโควิดเล่นงานหมด ยกเว้นสิงคโปร์กับบรูไนซึ่งเป็นประเทศร่ำรวย นอกนั้นแย่ไปหมด เรามาดูกันต่อไปว่าใครจะลงลึกไปถึงไหนและใครจะฟื้นก่อนใคร ระหว่าง ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 

เราพ่ายแพ้ต่อโควิดครั้งนี้เพราะพื้นฐานความมั่นคงทางเทคโนโลยีวัคซีนของเราอ่อนมากเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ถ้าเราผลิดวัคซีนได้เองอย่างน้อยระดับอินเดีย เราคงไม่แย่อย่างนี้ เราคิดว่าสังคมเราเข้มแข็ง แต่เอาเข้าจริง ๆ การจัดระเบียบรับมือกับการระบาดของเราก็อ่อนด้วย เมื่อเทียบกับประเทศจีน

นอกจากบริบทพื้นฐานที่จะเป็นตัวกำหนดความลึกของความเสียหายและความรวดเร็วในการฟื้นตัวแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่คู่กัน คือ การเตรียมพร้อม ประเทศเยอรมันปีนี้เป็นตัวอย่าง ถึงจะมีความเจริญสูง แต่ด้วยขาดประสบการณ์ จึงไม่มีการเตรียมพร้อมเมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ปีนี้จึงมีคนเสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมพร้อมสูง รับมือกับไต้ฝุ่นได้ปีละหลาย ๆ ลูกโดยไม่สั่นคลอน แม้ประเทศรายได้น้อยอย่างบังคลาเทศในปัจจุบันก็เตรียมพร้อมรับมือกับไซโคลนและน้ำท่วมได้ดีขึ้นมาก จำนวนคนตายในแต่ละปีน้อยลงมากเนื่องจากระบบเตือนภัยและการอพยพดีขึ้นกว่าเดิม การเตรียมพร้อมรับมือจึงต้องคู่ไปกับการพัฒนา

สุดท้าย กลับมาดูส่วนที่เหลือของเรา เช่น จังหวัดที่ยังไมมีการระบาดหนัก และ หน่วยงานสาธารณูปโภคที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย เราเตรียมพร้อมเพียงไร มีแผนหรือยัง แผนท่านดีจริงรึเปล่า หรือ เอาแต่รอวัคซีนอย่างเดียวเท่านั้น

อย่าลืมนะครับ

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย