‘วรรณวลี’ จวก ‘อัศวิน – ประยุทธ์’ เกียร์ว่าง ทำวิกฤตโควิดกทม.เลวร้าย ส.ก.แต่งตั้งหายไปไหน?

ล้มเหลวทั้งระบบ ‘วรรณวลี’ จวก ‘อัศวิน – ประยุทธ์’ เกียร์ว่าง มีอำนาจแต่ไม่บริหารจัดการ ทำสถานการณ์โควิดกรุงเทพฯ สุดเลวร้าย ถาม ‘ส.ก.แต่งตั้ง’ ยุค คสช.หายไปไหนหมด ได้เวลาออกมาทำงานเพื่อประชาชนบ้างหรือยัง

วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ช่วงสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดูเหมือนแย่ลงไปเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะเห็นจุดวิกฤตที่สุดอยู่ตรงไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพหานคร ทั้งที่เป็นเมืองหลวงของและเป็นศูนย์กลางการระบาดในครั้งนี้ แต่กลับบริหารจัดการอย่างล้มเหลวและไร้การบูรณาการอย่างสิ้นเชิง เป็นปัญหาเชิงระบบที่สืบเนื่องมาจากความปล่อยปละละเลยมานานเนื่องจากความเคยชินเพราะองคาพยพทั้งหมดไม่มีความยึดโยงหรือต้องรับผิดชอบต่อประชาชน จึงส่งผลต่อการบริหารอย่างสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช้าชามเย็นชาม

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความล้มเหลวเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างปัญหาจากระบบแต่งตั้ง ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ที่แต่งตั้งมาด้วยคำสั่งตาม มาตรา44 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 รวมถึงการแต่งตั้ง ส.ก.อีก 30 คน ที่ถึงขณะที่ กทม.กำลังวิกฤตที่สุดนี้ กลับยังไม่มีใครเห็นหน้าตาของพวกเขาเลย
.
“มีคำถามเกิดขึ้นไปทั่วกรุงเทพว่า ทุกวันนี้ ส.ก. จำนวน 30 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในยุค คสช.หายหน้าไปไหน ดิฉันในฐานะกรรมาธิการงบฯ ได้ถามไปยังผู้ว่าอัศวิน ขวัญเมือง ในห้องกรรมาธิการงบประมาณ ว่าพวกเขาที่มาจากการแต่งตั้งเหล่านี้ ยังได้รับเงินเดือนหรือไม่ และมีประชาชนถามหา หากยังรับเงินเดือน ขอให้ผู้ว่าฯช่วยไปตามกลับมาช่วยกันทำงาน ให้สมกับที่ยังมีตำแหน่ง รับเงินเดือน และยังอยู่ในอำนาจ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ว่าฯ คือ ปัจจุบัน ส.ก.ชุดนี้ เหลือเพียง 27 คน เพราะเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน และผู้ว่าฯเองก็ไม่ทราบว่า ส.ก.เหล่านี้หายไปไหน แต่รับปากจะไปบอกให้ว่าประชาชนถามหา แบบนี้หรือคือการบริหารสถานการณ์กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองมหานครของประเทศนี้ ”
.
วรรณวลี ยังกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากแค่ไหน คนที่อยู่ห่างไกลอย่างกลุ่มหมอชนบทยังตระหนักดีจึงได้อาสาเขามาช่วยในการตรวจเชิงรุกเพื่อคัดกรองคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาทำการรักษาโดยเร็ว ซึ่งเป็นบทบาทที่กรุงเทพมหานครควรทำตั้งแต่แรก แต่กลับเพิกเฉยและปล่อยปละละเลยมาหลายเดือน ผลจากการที่กลุ่มหมอชนบทอาสามาตรวจเชิงรุกในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 21-23 ก.ค. หรือเพียง 3 วัน สามารถตรวจไปได้มากกว่า 31,000 เคส พบผลเป็นบวกมากกว่า 5,000 เคส เท่ากับว่าพบมีผู้ที่น่าจะติดเชื้อมากถึงประมาณร้อยละ 16 คำถามคือหลายเดือนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครทำอะไรอยู่ และจากการทำงานเพียง 3 วันเท่านั้น กลุ่มหมอชนบทกลับทราบถึงปัญหาของกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าฯบริหารมานานกว่า 5 ปี ไม่เคยคิดแก้ไข

โดยหมอชนบทสะท้อนว่า สาเหตุที่มีการระบาดและการสูญเสียในกรุงเทพที่วิกฤตมากขนาดนี้ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพไม่เคยลงทุนกับระบบสาธารณสุขอย่างเพียงพอเลย จึงมีแต่ระบบดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ไม่มีการวางรากฐานในระบบควบคุมโรคและส่งเสริมสุขภาพ เมื่อมีเหตุระบาดขึ้น จึงไม่มีจุดตรวจคัดกรองที่เพียงพอ ทำให้คุมเชื้อแทบไม่ได้ สถานการณ์จึงลุกลามอย่างรวดเร็วเพราะไม่รู้ว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย
.
ประการต่อมา ถึงตรวจเจอไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบ Rappid Antigen Test หรือแบบ RT-PCR ที่มีความแม่นยำสูงก็ตาม แต่ก็ไม่มีสถานที่กักตัวหรือรับพักรักษา เพราะเตียงเต็มไปหมดทั้งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ในชุมชนก็ไม่มีศูนย์พักคอย ที่พยายามทำอยู่ก็มีเตียงน้อยมาก สุดท้ายจึงทำได้แค่กลับไปอยู่ในชุมชนจนกลายเป็นติดกันไปหมด
.
“เสียงสะท้อนจากพื้นที่ที่ลงไปทำงาน เราพบว่ามีประชาชนจำนวนมากกำลังรอตรวจ รอเตียง รอรักษา แต่ข้อสังเกตคือ เพราะกรุงเทพมหานครไม่เคยเตรียมความพร้อมเรื่องสาธารณสุขมาก่อน ไม่ว่าเรื่องคน เครื่องมือ งบประมาณ จึงทำให้ไม่ยอมตรวจให้มากที่สุดตามหลักการคุมโรคที่ควรเป็น เพราะคิดว่าถ้าเจอก็ดูแลไม่ได้ แต่ถึงตอนนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องตรวจ ต้องยอมรับความจริงเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ถ้าไม่พร้อมก็ต้องบูรณาการส่วนงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ใช่เอาแต่เล่นการเมือง กันท่า แย่งผลงานกันเอง อย่างที่มีข่าวว่าไม่ยอมให้กระทรวงแรงงานเข้ามาตรวจหาเชื้อให้แรงงานใน กทม. จึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ศักยภาพที่มีอยู่ก็ไม่พร้อม แต่ไม่ยอมให้หน่วยอื่นมาช่วยแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังเหมือนทำงานเหมือนพยายามปั้นแต่ตัวเลขให้สวยๆ เช่น บอกว่าฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพไปแล้วเยอะมากกว่าร้อยละ 50 คำถามก็คือ ท่านไม่รู้หรือว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดที่เป็นจุดระบาดหรือพื้นที่สีแดงเข้มที่ต้องจัดการเร่งด่วน ต้องมีวัคซีนให้กลุ่มนี้อย่างทั่วถึงตามปัญหาที่เกิด ไม่ใช่การจัดการตามเอกสารแล้วเอาตัวเลขสวยๆมาโชว์ซึ่งผิดฝาผิดตัวไปหมด”
.
วรรณวลี อธิบายต่อไปว่า ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการโควิดในกรุงเทพมหานครคือ การไม่มีไม่มีเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเฉพาะในด้านสาธารณะสุข มีหน่วยงานต่างสังกัดจำนวนมาก ทั้งสังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัด ศบค.หรือกองทัพ กระทั่ง หน่วยงานพระราชทาน และอาสาสมัครต่างๆแยกออกไปอีก ซึ่งทั้งหมดต่างคนต่างแยกไปทำงาน แต่ไม่มีการบูรณาการแบบรวมศูนย์ เรื่องนี้ต้องไปคุยกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพทั้งรับผิดชอบในกรุงเทพมหานครที่ประสานทุกหน่วยงานทั้งหมดให้ทำงานเป็นภาพเดียวกันได้ ซึ่งความจริงแล้วควรเป็นบทบาทของ กรุงเทพมหานคร แต่ขณะนี้ก็มีการตั้ง ศบค.กทม.ขึ้นมาอีก สรุปแล้วใครจะเป็นผู้สั่งการและบูรณาการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ไม่ใช่พอเห็นว่ายุ่งยากก็เกียร์ว่างกันหมด อย่างที่เห็นทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ศบค.กทม. และ พล.ต.อ.อัศวิน ไม่มีใครช่วยทำให้ข้อจำกัดระหว่างหน่วยงานและระเบียบราชการต่างๆหายไปเพื่อให้สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้เร็วขึ้นเลย
.
“ปลดล็อกการเข้าถึง Rapid Antigen Test แต่ประชาชนหาซื้อยากมากและราคาสูงมาก เจอผลเป็นบวกแทนที่จะรีบคัดแยกเพื่อรักษาทันทีและกักวงจรการระบาดก็ต้องไปหาที่ตรวจ RT-PCT ก่อนจึงจะนำข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบได้ แถมพอจะตรวจก็ต้องไปนั่งต่อแถวข้ามวันข้ามคืน พอได้ผลตรวจก็ต้องไปรอหาเตียงต่อไป นี่คือปัญหาที่พวกเรา ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. และทีมงานกรุงเทพมหานครพบเจอตลอดเวลา รวมถึงทุกคนที่เข้ามาช่วยเหลือกรุงเทพมหานครขณะนี้ก็พบอุปสรรคเดียวกัน คือความยากในทุกขั้นตอน ยากในการหาเตียงให้ผู้ป่วยทุกสี ที่หนักขึ้นตอนนี้คือสีเหลืองและแดงที่กำลังล้นเกินศักยภาพทางสาธารณสุข การทำ home isolation ที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศไว้ว่าจะส่งยาและอาหารให้ผู้ป่วย มีแต่คำพูดสวยหรู ที่ปฏิบัติไม่ได้จริง ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้มีจำนวนน้อยมากที่ได้รับอาหาร เสมือนว่า นโยบาย home isolation เป็นการลอยแพผู้ป่วยโควิดไว้ที่บ้านมากกว่า”
.
วรรณวลี กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าหมอชนบทที่อาสาเข้ามาช่วยในการรุกตรวจและส่งต่อ ,เครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มที่ช่วยทำงานช่วยเหลือประคับประคองและหาเตียง รวมถึงพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเป็น ส.ส., ผู้สมัคร ส.ก.หรือทีมงานทุกคน ที่พยายามหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าอำนาจในการบริหารจัดการที่จะทะลวงคอขวดต่างๆอยู่ที่ รัฐบาล ศบค.และ กทม. ทั้งสิ้น แต่กลับไม่นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลานี้ ยังคงบริหารจัดการไปตามระบบราชการเหมือนไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น เป็นระบบที่เห็นเอกสารสำคัญกว่าชีวิตคน
.
อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงพยายามเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าการนำถุงน้ำใจที่มีอาหาร ชุดยาสามัญ และเครื่องใช้จำเป็นไปส่งให้ประชาชนที่ต้องกักตัวหรือติดโควิดแล้วไม่สะดวกในการออกมาซื้ออาหารและยา บางเขตที่พอจะมีรถ ก็อาสาใช้เป็นรถรับส่งผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่มีปลายทางรับตัว, การช่วยประสานหาเตียงที่แม้โอกาสจะมีน้อยมากแต่ละคนต้องรับเป็นร้อยสายในแต่ละวันทำกันอย่างสุดความสามารถแม้รู้ว่าโอกาสจะน้อยมากก็ตาม เพราะหากช้าไปแม้วันเดียวก็อาจจะหมายถึงชีวิตคนหนึ่งคน หลายคนเอาตัวเองไปเสี่ยงท่ามกลางผู้ป่วยโควิด ทั้งที่วัคซีนโควิดยังไม่เคยได้ปักบนแขนแม้แต่เข็มเดียว เพราะพวกเขามองว่านี่คือสถานการณ์วิกฤตจริงๆที่ทุกคนต้องช่วยกันเท่าที่ทำได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ที่ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ รอคนเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง