ซิโนฟาร์ม : เปิดผลวิจัยในฮังการี พบกระตุ้นภูมิได้ไม่ดีในกลุ่มผู้สูงอายุ

FILE PHOTO: A healthcare worker in North Macedonia handles China's Sinopharm coronavirus disease (COVID-19) vaccines at a sport centre, as the country continues its mass inoculation campaign, in Stip, North Macedonia May 6, 2021. REUTERS/Ognen Teofilovski/File Photo

ผลวิจัยในฮังการี พบวัคซีนซิโนฟาร์ม กระตุ้นภูมิได้ไม่ดีในผู้สูงอายุ

สำนักข่าวเอพี รายงานผลการศึกษาวิจัยที่ประเทศฮังการี พบว่าวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นในหลายสิบประเทศที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับกลุ่มประชากรที่เสี่ยงมากที่สุดกลุ่มนี้

รายงานระบุว่า ผลการศึกษาโดยนักวิจัยชาวฮังการี 2 คน ทำการตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่าง 450 คน หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส อย่างน้อย 2 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี สัดส่วน 90% มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนจะลดลงเรื่อยๆ ตามระดับอายุที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มคนอายุมากกว่า 80 ปี พบว่าภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นเลย

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาวิจัยดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์และยังไม่มีการทำเพียร์รีวิวจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 3 ราย ให้ความเห็นว่า วิธีการศึกษาวิจัยดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

จิน ตง หยาน นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า ผลวิจัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมากที่คนกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกระตุ้นภูมิได้ไม่ดี

รายงานระบุว่า แม้ระดับภูมิคุ้มกันจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการป้องกันโควิด-19 ของแต่ละคนโดยตรง แต่ก็เริ่มมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าระดับภูมิคุ้มกันสามารถเป็นตัวแทนสะท้อนเรื่องดังกล่าวได้ดี ขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าการเลือกชุดทดสอบในงานวิจัยดังกล่าวอาจทำให้ความแม่นยำในการวัดค่าต่างๆ นั้นมีอยู่อย่างจำกัด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังคงถือว่าผลการวิจัยดังกล่าวมีคุณค่า และนับเป็นความพยายามในการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ต่อผลการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นครั้งแรก

ด้านคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับผลการวิจัยดังกล่าว โดยระบุว่า จะให้ความเห็นเฉพาะงานศึกษาวิจัยที่ทำโดยรัฐบาลหรือสถาบันวิจัยใหญ่ๆ เท่านั้น

สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนแบบเชื้อตายอีกยี่ห้อของจีน ซึ่งได้มีประเทศต่างๆใช้งาน อย่างกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย อย่างบาร์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพบในเวลาต่อมาว่าไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่กับสายพันธุ์เดลต้าได้ทำให้มีการนำเข้าวัคซีนแบบ mRNA เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิกันแล้ว