กสม.แนะรัฐรับฟังความเห็นต่าง หยุดใช้กลไกทางกม.เล่นงาน กรณี ‘คอลเอาต์’

กสม.ไม่เห็นด้วยจำกัดเสรีภาพปชช. ‘คอลเอาต์’ แนะรัฐรับฟังความเห็นต่าง นำไปสู่การแก้ไข หยุดใช้กลไกทางกม.เล่นงาน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่เอกสารระบุเนื้อหาว่า ตามที่ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีนักแสดง นักร้อง และบุคคลสาธารณะออกมาแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นำมาซึ่งการร้องทุกข์และการแจ้งความดำเนินคดี กสม.ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงกังวลต่อการใช้กลไกทางกฎหมายมาปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

แม้การใช้สิทธิเสรีภาพแห่งการแสดงออกข้างต้นอาจมีข้อจำกัดได้เพื่อการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่ข้อจำกัดดังล่าวต้องทำเท่าที่จำเป็น กสม.เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะและประชาชนทั่วไปต่อการบริหารจัดการของรัฐเพื่อควบคุมและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนรวมทั้งทุกภาคส่วนในสังคมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต แม้อาจมีถ้อยคำที่สื่อสารด้วยอารมณ์ความรู้สึกตามยุคสมัย แต่มิได้ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย และจำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในข้อ 25 ของกติกา ICCPR รัฐบาลจึงพึงรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กสม.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยการไม่ใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ควรตรวจสอบข้อมูลที่อาจเป็นเท็จก่อนเผยแพร่ และขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลรับฟังความเห็นที่แตกต่างรวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ และงดเว้นการใช้กลไกทางกฎหมายที่มีผลเป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต เพื่อนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อันจะทำให้สังคมประชาธิปไตยขับเคลื่อนและฝ่าฟันปัญหาไปได้บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน