“โรม” ร่ายยาว 3 หมอริมน้ำ เบื้องหลังรัฐบาลประยุทธ์ ไขปริศนาวัคซีน ไม่ใช่ม้าเต็ง แต่เป็น ม้าล็อก

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นประเด็นการจัดการวัคซีนของรัฐบาล โดย ระบุว่า

“ม้าเต็ง” หรือ “ม้าล็อค” กันแน่: ทบทวนความสัมพันธ์รัฐบาลประยุทธ์กับ 3 หมอเบื้องหลังบริษัทผลิตวัคซีน ร่วมกันพาประเทศไทยมาถึง “จุดนี้”

วันนี้ (23 กรกฎาคม 2564) ประเทศไทยมีผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 14,575 คน (สถิติสูงสุด) อยู่ระหว่างการรักษา 143,744 คน ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 114 คน เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 3,811 คน โดย 7 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกิน 10,000 คนในทุกวัน

เราได้เห็นแล้วว่าคนไทยไม่ใช่แค่ต้องรอวัคซีนดีๆ หรือรอการเยียวยาที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ แต่มาถึงจุดที่ต้องรอให้ใครมาเก็บร่างของตัวเองที่ป่วยตายอยู่กลางถนน โดยที่อาจไม่ได้เข้าถึงแม้กระทั่งการตรวจโรคด้วยซ้ำ

ได้เห็นครอบครัวที่พยายามพาคนที่เขารักเดินทางไปรับการรักษาโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่อาจส่งถึงมือหมอได้ทันเวลา บางคนที่ควรจะส่งตัวได้ทันก็ไม่มีเตียงรองรับหรือถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาล

ได้เห็นตำนานร้านอาหารต่างๆ ที่เป็นมรดกของเมืองต้องทยอยจากไปทีละคนๆ

ได้เห็นอาคารที่อยู่อาศัยบางแห่งกลายเป็นค่ายกักกันไปโดยปริยาย ผู้อยู่อาศัยต้องรับความเสี่ยงติดโรคจากเพื่อนบ้านด้วยตัวเอง

ได้เห็นโรคร้ายคร่าชีวิตผู้คนไม่เว้นว่าจะเป็นวัยที่ควรได้มีความสุขในบั้นปลาย หรือวัยที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ได้เห็นประชาชนรวมกลุ่มช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังเลวร้ายจนน่าท้อใจ

และได้เห็นข่าวรัฐบาลเพิ่งจะเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนคุณภาพสูง ที่เปิดเผยตัวเลขราคาออกมาแล้วยังถูกกว่าวัคซีนที่เราซื้อกันมาเป็นสิบๆ ล้านโดส แล้วผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกล้าเอามาโพสต์เฟซบุ๊คชูว่านี่คือความ “ไม่เคยนิ่งนอนใจ” ของรัฐบาล ยังกล้ามาชี้หน้าด่าประชาชนส่วนเล็กส่วนน้อยว่าเป็นภาระของส่วนรวม ทั้งที่คนกลุ่มเล็กๆ หนึ่งเดียวที่มีอำนาจหน้าที่ ที่ควรเริ่มสั่งซื้อวัคซีนดีๆ เหล่านั้นมาได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นอย่างช้าที่สุด แต่กลับไม่ทำ จนสร้างภาระใหญ่หลวงให้กับประชาชนทั้งประเทศตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ก็คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

ฉะนั้นต่อให้ในอนาคตประเทศไทยจะดิ้นรนอย่างทุลักทุเลจนเอาตัวรอดมาได้ในที่สุด (โดยอาจต้องสูญเสียนับพันนับหมื่น หรืออาจนับแสนชีวิตไปในระหว่างทาง ทั้งที่ควรป้องกันได้) เราก็จะต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่า “ใคร” คือผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการนำพาประเทศและประชาชนมาถึง “จุดนี้” ได้

ซึ่งนอกจากตัว พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองขั้นสูงสุดต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และคุณอนุทินได้ผูกมัดการพึ่งพิงในการกำหนดนโยบายเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ที่จำเป็นต้องถูกกล่าวถึงเช่นกัน ได้แก่อาจารย์แพทย์ 3 คนที่คุณอนุทินเคยโพสต์เฟซบุ๊ครำลึกถึงเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ว่าเป็น “ผู้วางแผนต่อสู้กับ COVID-19 ให้กับกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ต้น” (ซึ่งคำว่า “ตั้งแต่ต้น” หากตีความกว้างสุดอาจหมายถึงตั้งแต่เริ่มระบาดในช่วงต้นปี 2563 เลยทีเดียว) ได้แก่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, นพ.อุดม คชินทร และ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ซึ่งเติบโตตามกันมาในฐานะคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และในช่วงที่ผ่านมาได้ถูกพูดถึงมากขึ้นถึงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19

นพ.ปิยะสกล เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2558 – 2562 เกือบตลอดสมัยของรัฐบาล คสช. แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2552 สมัยที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นผู้นำทีมนักวิจัยไปโน้มน้าวผู้บริหารบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มีการลงทุนด้านยาและเวชภัณฑ์ จนก่อกำเนิดเป็นบริษัท Siam Bioscience ในเวลาต่อมา

เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 นพ.ปิยะสกลก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกับรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการการควบคุมป้องกันโรคตั้งแต่ก่อนมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ ต่อมาในการประชุม ศบค. ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ก็เป็นผู้ริเริ่มข้อเสนอติดต่อซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca โดยอ้างข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าวัคซีนชนิด viral vector ที่ AstraZeneca พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น “ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก” จึงเสนอให้ภาคเอกชนไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ม.ออกซ์ฟอร์ดนำวัคซีนชนิดนี้มาผลิตในไทย ซึ่งเอกชนที่ว่านั้นก็คือ SCG ที่ นพ.ปิยะสกลเคยไปโน้มน้าวให้มีการลงทุนด้านยาและเวชภัณฑ์ และสิทธิในการผลิตวัคซีนก็ได้ถูกมอบให้กับ Siam Bioscience ในที่สุด

ส่วน นพ.อุดม ในช่วงปี 2556 – 2557 ขณะเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยนำทีมบุคลากรและนักศึกษาของคณะเข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. แม้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศยุบสภาแล้วก็ตาม ซึ่งต่อมาเป็นเหตุอ้างให้เกิดการรัฐประหารโดย คสช. ในที่สุด ภายหลังรัฐประหาร นพ.อุดมได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 2560 – 2562 และเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ในเดือนมีนาคม 2563 ร่วมกับ นพ.ปิยะสกลด้วย

นอกจากนี้ นพ.อุดมยังเคยเป็นกรรมการบริษัท Siam Bioscience อีกด้วย ซึ่งในการประชุม ศบค. ชุดเล็กเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ก็ยังกล่าวสนับสนุนการอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทให้ Siam Bioscience นำไปปรับปรุงฐานการผลิตวัคซีน โดยยืนยันความจำเป็นที่จะต้องให้ Siam Bioscience ยกระดับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเพื่อให้เป็นบริษัทมาตรฐานระดับโลก สามารถจำหน่ายวัคซีนให้ต่างประเทศได้ และยืนยันว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน COVID-19 คือการผลิตวัคซีนมาป้องกัน

และ นพ.ประสิทธิ์ ก็เป็นอีกหนึ่งในกรรมการของ Siam Bioscience ในปัจจุบัน (โดยที่เจ้าตัวชี้แจงว่าไม่ได้รับเงินตอบแทนหรือถือหุ้นในบริษัทแต่อย่างใด) นอกจากนี้ยังเคยแสดงความเห็นในวงวิชาการว่าการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพประมาณ 50 – 60% เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีก็เพียงพอ และเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะไม่ฉีดวัคซีน mRNA อย่างแน่นอน เพราะ mRNA จะเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์จนเกิดอาการภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (ซึ่งล่าสุดมีการโต้แย้งว่าไม่น่าเป็นไปได้ในทางชีววิทยา) แนวความเห็นดังกล่าวนี้ส่งผลเป็นการสนับสนุนการซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ Siam Bioscience ได้สิทธิผลิต และวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลไทยนำเข้าจำนวนมากเพื่อทดแทนวัคซีน AstraZeneca ที่ล่าช้า

นอกจากนี้ในการเสวนาออนไลน์ใน Clubhouse เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นพ.ประสิทธิ์ยังเคยอ้างเหตุผลที่ไม่ซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายว่าเพราะตลาดวัคซีนยังเป็นตลาดของผู้ขาย หลายแห่งไม่ยอมขาย หรือเมื่อติดต่อไปแล้วเหมือนกับเราต้องไปง้อซื้อจากเขา

ด้วยท่าทีของนายแพทย์ใหญ่เหล่านี้ นำไปสู่บทสรุปที่รัฐบาลเลือก “แทงม้าเต็ง” ซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัท Siam Bioscience เท่านั้นในเวลานั้น ทว่าเมื่อได้เห็นแล้วว่านายแพทย์ทั้ง 3 ท่านต่างก็มีส่วนผูกพันใกล้ชิดกับ Siam Bioscience เป็นอย่างมากแล้ว ก็จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าเหตุที่รัฐบาลตัดสินใจเลือกวัคซีน AstraZeneca เพียงรายเดียว? ไม่พยายามแสวงหาวัคซีนรายอื่นที่เวลานั้นก็มีผลทดสอบออกมาแล้วว่าประสิทธิภาพสูงมาเพื่อกระจ่ายความเสี่ยง? เหตุที่ตกลงว่าผู้ผลิตต้องเป็น Siam Bioscience ที่ตอนนั้นยังไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน แท้จริงคืออะไรกันแน่? ที่อ้างว่า AstraZeneca เป็นผู้เลือกเองนั้นใช่จริงหรือ?

ข้อตกลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่จะได้รับวัคซีนคุณภาพดีในเวลารวดเร็วที่สุด หรือแท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อผลประโยชน์บางอย่างที่มี 3 นายแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อกันแน่? (ซึ่งก็ต้องบอกว่าผลประโยชน์นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินหรือสินทรัพย์เสมอไป เพราะอาจตอบแทนกันในรูปแบบอื่น หรือมีแรงจูงใจในการเอื้อประโยชน์ที่ไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทองก็ได้) หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ตกลงแล้วนี่คือ “ม้าเต็ง” เพราะเป็นวัคซีนที่มั่นใจแล้วว่าดีที่สุด เป็นโรงงานที่มีหลักประกันแล้วว่าผลิตออกมาทันแน่นอน หรือจริงๆ แล้วมันคือ “ม้าล็อค” ที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องเป็นวัคซีนนี้โดยโรงงานนี้เท่านั้น อย่างไหนกันแน่?

และไม่ใช่แค่ AstraZeneca แต่กับวัคซีน Sinovac ด้วยเช่นกัน ทั้งที่มากด้วยข้อกังขาในเรื่องประสิทธิภาพ แต่เหตุใดรัฐบาลยังกลับนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อพบว่าบุตรชายของ นพ.ปิยะสกลก็เป็นกรรมการอยู่ในบริษัทที่เป็นบริษัทในเครือที่ถือหุ้น Sinovac อยู่ด้วย ความสัมพันธ์เช่นนี้จะทำให้วัคซีนรายนี้ถือเป็น “ม้าล็อค” อีกตัวหนึ่งต่อจาก AstraZeneca หรือไม่?

และที่สำคัญคือทั้งที่การบริหารวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียวภายใต้การวางแผนตั้งแต่ต้นของ 3 นายแพทย์นั้นเริ่มเห็นถึงความผิดพลาดกันมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังไม่นับว่าหากเป็นไปตามเอกสารสัญญาและจดหมายต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน AstraZeneca ที่เพิ่งถูกเปิดเผยออกมานั้น ก็ควรจะรู้ได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าสิ่งที่ทำลงไปภายใต้คำแนะนำของนายแพทย์เหล่านี้จะทำให้ประเทศไม่ได้รับวัคซีนที่เพียงพออย่างทันเวลา แต่รัฐบาลก็ยังเลือกที่จะเอานายแพทย์เหล่านี้เข้ามากำหนดนโยบายวัคซีนกันต่อไป โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกนอกจาก AstraZeneca และ Sinovac โดยมี นพ.ปิยะสกลเป็นประธานคณะทำงาน และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ก็มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2564 ยืนยันที่จะแต่งตั้งให้นายแพทย์ทั้ง 3 คนนี้เป็นประธาน, รองประธาน และกรรมการคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขใน ศบค. ต่อไป ซึ่งปรากฏว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาภายใต้คณะทำงานเหล่านี้ ประเทศไทยได้รับวัคซีนรายใหม่เข้าประเทศเพิ่มเพียงรายเดียวคือของ Sinopharm ที่มาได้ด้วยการเร่งแก้กฎหมายให้อำนาจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งซื้อได้ ในขณะที่วัคซีนที่หลายคนรอคอยอย่างของ Pfizer กับ Moderna นั้นก็เพิ่งจะมาดำเนินการเรื่องสัญญากันได้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และยังคงต้องรอคอยกันต่อไปว่าจะถึงมือคนไทยจริงๆ เมื่อไรกันแน่