‘สถาบันนโยบายก้าวไกล’ เสนอ มหาวิทยาลัยลดค่าเทอม 30% แนะรัฐบาลอุดหนุนขนาดกลาง-เล็ก

‘สถาบันนโยบายก้าวไกล’ เสนอ มหาวิทยาลัยลดค่าเทอม 30% ‘เดชรัต’ ชี้ มหาวิยาลัยใหญ่ไม่กระทบเพราะรายได้ค่าเทอมไม่ถึง 20% แต่มหาวิทยาลัยขนาดกลาง-เล็ก รัฐบาลควรอุดหนุนเพื่อลดค่าเทอมอย่างเท่าเทียม

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายของพรรคก้าวไกล (Think Forward Center ) เสนอให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอมลง 30% ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 และรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนมหาวิทยาลัยขนาดกลาง-ขนาดเล็ก
.
“ภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับครัวเรือน โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เมื่อก้าวจากการศึกษาภาคบังคับมาสู่มหาวิทยาลัยจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ยิ่งเมื่อนำค่าใช้จ่ายในการศึกษาดังกล่าวมาเทียบกับรายได้ของแต่ละครัวเรือนด้วยแล้ว เราจะพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาถึง 49% ของรายได้ครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 7 ของรายได้เท่านั้น”
.
เดชรัต ระบุว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่า เด็กจากกลุ่มครัวเรือน 40% ล่าง มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16.6 ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งหมด ตรงกันข้ามกับสัดส่วนของนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ ยิ่งเมื่อรายได้ของครัวเรือนลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 จะพบว่า สัดส่วนของภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต่อรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเยอะกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงมาก
.
“ยังไม่ต้องพูดว่า ในข้อเท็จจริง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยน่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะโควิด-19 มากกว่าด้วย นั่นแปลว่า เด็กๆ จากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือครัวเรือนก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผมจึงขอสนับสนุนให้มีการลดค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายในการศึกษาอื่นๆ ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อมิให้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากไปกว่านี้”
.
เดชรัตน์ กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยควรลดค่าเทอมเท่าไร เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างกันมาก แต่เพื่ออธิบายให้เห็นภาพ อาจแยกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
.
หนึ่ง มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่พึ่งพารายได้จากการจัดการศึกษา (หรือค่าเทอมและอื่นๆ ของนิสิตนักศึกษา) ไม่ถึง 20% ของรายรับทั้งหมด ในช่วงสถานการณ์โควิด (ปี 2563) มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ยังมีรายได้สุทธิเป็นหลักพันล้านบาท และมีรายได้สุทธิสะสมเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไป เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้น่าจะลดค่าเทอมได้มากกว่า 30-50% โดยยังรายได้สุทธิเป็นบวก และถึงติดลบบ้างก็ไม่กระเทือนเงินสะสมมากนัก
.
สอง มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่พึ่งพารายได้จากการจัดการศึกษามากกว่า 30% ขึ้นไป เช่น ศิลปากร มศว มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้มีรายได้สุทธิสะสมเป็นหลักพันล้านบาทปลายๆ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้น่าจะได้รับผลกระทบจนรายได้สุทธิติดลบได้ ถ้ามีการลดค่าเทอมมากกว่า 30%
.
สาม มหาวิทยาลัยขนาดเล็ก กลุ่มนี้ฐานะการเงินในช่วงหลังไม่ดีนัก รายได้สุทธิอาจมีติดลบในบางปี หรือถ้าเป็นบวกก็ไม่มากนัก กลุ่มนี้อาจลดค่าเทอมได้ในอัตรา 10% ถ้าลดมากกว่าอาจกระทบต่อรายได้สุทธิได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้มีรายได้สุทธิสะสมเป็นหลักพันล้านต้นๆ
.
“ผมเชื่อว่า ทุกมหาวิทยาลัยน่าจะลดค่าเทอมได้ 10% มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อาจลดได้ถึง 15-30% ส่วนที่เหลือ ผมว่าถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนมหาวิทยาลัยขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้ลดค่าเทอมได้ในสัดส่วนเดียวกันที่ 30% น่าจะเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ รัฐบาลและมหาวิทยาลัยควรเตรียมสินเชื่อเฉพาะกิจปลอดดอกเบี้ย สำหรับค่าเล่าเรียนในปีการศึกษานี้” เดชรัต กล่าว
.
นอกจากนี้ เรื่องการลดค่าเทอมมหาวิทยาลัย ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคกก้าวไกล ได้เคยแสดงความคิดเห็นไว้ใน กมธ. งบประมาณว่า รัฐบาลต้องมีคำสั่งที่ชัดเจนและงบประมาณอุดหนุนลงมา เพราะหากปล่อยให้สถานศึกษาลดค่าเทอมโดยสมัครใจ อย่างในกรณีของค่าเทอมระดับมหาวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่ลดลงแค่ 10% ทั้งที่หลายมหาวิทยาลัยมีกำไรสะสมค่อนข้างมาก เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มีกำไรสะสม 6.6 หมื่นล้านบาท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำไรสะสม 6 หมื่นล้านบาท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกำไรสะสม 1.8 ล้านบาท สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเงินสะสมยิ่งไม่สามารถคาดหวังได้มากกว่านี้ ทางออกคือต้องให้รัฐบาลอุดหนุนเงินลงมาตามสัดส่วน ไม่ใช่ให้แต่ละมหาวิทยาลัยตัดสินใจเอง ซึ่งน่าจะใช้เม็ดเงินไม่มาก แต่สามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครอง และนักศึกษาในช่วงวิกฤตของประเทศครั้งนี้ได้