ทอท. ทรุดหนัก คาด ก.ค.ปีหน้า ขาดสภาพคล่อง-โควิด ฉุดกระแสเงินสดวูบเหลือ 2.1 หมื่นล้าน

ทอท. ทรุดคาด ก.ค.ปีหน้าขาดสภาพคล่อง หลังกระแสเงินสดวูบเหลือ 2.1 หมื่นล้าน ระบุมาตรการห้ามบิน 13 จังหวัดฉุดรายได้ลดอีก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย และทั่วโลกยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และไทย จากปริมาการเดินทางที่ลดลง และยังไม่กลับมาเป็นปกติ

ล่าสุดช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาปริมาณผู้โดยสาร รวม 6 สนามบินในสังกัด ลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคนหรือติดลบ 80% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีปัญหาหนักเช่นกัน

ทั้งนี้ ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลง ส่งกระทบโดยตรงต่อรายได้และรายจ่าย ทำให้ล่าสุดกระแสเงินสดของบริษัทได้ปรับลดลงเหลือเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดือน เม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2 พันล้านบาทในช่วงไม่กี่เดือน ขณะที่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีกระแสเงินสดมากเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

“เมื่อพิจารณาปริมาณเปรียบเทียบกระแสเงินสดคงเหลือรวม 2.1 หมื่นล้านบาท กับรายจ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายตามแผนการลงทุน คาดว่า อาจจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีหน้า หรือเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.65 เป็นต้นไป แม้ว่าภาระเบิกจ่ายงบลงทุนช่วงนี้จะปรับลดลงจากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างสนามบินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดตามมาตรการของรัฐบาลก็ตาม”

นายนิตินัยกล่าวถึงความคืบหน้าในการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ บอร์ด ทอท.ได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการประเมินสถาการณ์ด้านการบินช่วงเริ่มตารางบินฤดูหนาว เดือน ต.ค. เพราะจะทำให้เห็นความชัดเจนเรื่องการเปิดน่านฟ้าของแต่ละประเทศได้มากขึ้น

จากนั้นจะทำให้คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารได้ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจกู้เงิน หากน่านฟ้าเปิดมากก็อาจจะกู้เงินน้อย และหากน่านฟ้ายังปิดก็อาจจะต้องกู้เงินในวงเงินที่มาก ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ แต่จะเห็นแผนกู้เงินชัดเจนในเดือนต.ค.นี้แน่นอน

ทั้งนี้ยอมรับว่ามาตรการห้ามบินพื้นที่ 13 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รุนแรง ที่จะเริ่มบังคับใช้กับเส้นทางการบินในประเทศ เริ่มตั้งแต่ 21 ก.ค. นี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินให้ปรับลดลงอีก

เนื่องจาก ทั้ง 2 สนามบินหลัก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในเขตจังหวัดห้ามทำการบิน ส่วนผลกระทบต่อโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ และสมุยพลัส

กรณีอียูถอนไทยออกจากลิสต์ประเทศที่อียูผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางนั้นล่าสุดยังไม่ส่งผลกระทบด้านการตัดสินใจเดินทางมาไทย เนื่องจาก จำนวนผู้เดินทางยังมีปริมาณน้อยอยู่ ประมาณวันละ 1,000 คน

รวมทั้งในส่วนของภูเก็ตและสมุยเป็นเกาะ มีมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นมาตรการสาธารณสุข

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าประเทศสมาชิกต่างๆในอียูจะออกมาตรการควบคุมการเดินทางกลับเข้าประเทศเช่นออกมาตรการกักตัวก่อนเข้าประเทศ กรณีมาท่องเที่ยวในไทยนั้นขณะนี้ อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ ยังไม่พบว่ามีการออกมาตรการกักตัว

แต่หากมีการออกมาตรการกักตัวก่อนเข้าประเทศ ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เพราะเป็นเรื่องของความไม่สะดวกในการเดินทาง