‘พิธา’ ทวงถามคืบหน้า ‘กองทัพ’ 4 ปีแล้ว ลดกำลังพล-ปรับโครงสร้างตามแผนหรืยัง

ตรวจงบกลาโหมละเอียดยิบ! ‘พิธา’ ทวงความคืบหน้า ‘กองทัพ’ ผ่านมา 4 ปี ลดกำลังพลและปรับโครงสร้างได้ตามแผนหรือไม่ ชี้ ถอน’เรือดำน้ำ’ แค่ปีนี้ไม่พอ เผย ‘สงครามลูกผสม’ การซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ ไม่ตอบโจทย์ แนะ ยุบ บก.ทท. ช่วยประหยับงบประเทศถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานกระทรวงกลาโหม ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพบก

โดย หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนทราบว่ากระทรวงกลาโหมมีแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 ออกมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อที่จะปรับลดอัตรากำลังพล,ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยรบ และยุบควบรวมหน่วยที่ไม่จำเป็นแล้วปรับโอนงานให้เอกชน ซึ่งตอนนี้ปี 2564 แผนปรับโครงสร้างกลาโหมใช้มาได้ 4 ปีแล้ว จึงต้องมาขอทวงความคืบหน้าจากปลัดกระทรวงและผู้นำเหล่าทัพว่าลดกำลังพลและปรับโครงสร้างได้จริงหรือไม่ โดยขอเอกสารเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบดังนี้ 1.แผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 2.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารบก เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด 3.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารเรือ เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด 4.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารอากาศ เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด

“ผมมีทั้งข้อที่ต้องชื่นชมกองทัพและมีข้อท้วงติง โดยข้อที่ต้องชื่นชมนั้น เป็นของกรณีกองทัพอากาศที่ได้มีการตีพิมพ์เอกสารสมุดปกขาว หรือ White Paper ที่ได้เปิดเผย ยุทธศาสตร์ เหตุผล และแผนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ล่วงหน้าไว้ 10 ปี การทำเช่นนี้ทำให้สังคมได้ทราบและสามารถร่วมกันตรวจสอบได้และยังสามารถเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติให้เหล่าทัพอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตให้เหล่าทัพอื่นๆ นำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าคงไม่ได้จัดซื้อได้ตามสมุดปกขาวทุกอย่างเพราะไม่เช่นนั้นงบปี 65 คงจะเป็น 46,000 ล้านบาท แต่งบประมาณจริงๆ คือ 38,000 ล้านบาท นอกจากนี้ผมมีคำถามกับกองทัพอากาศในส่วนกับที่อยู่ในเอกสารชี้แจงหน้า 24 ของกองทัพอากาศในงบรายจ่ายอื่นข้อ 1.5 ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลัง และซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่ายที่มีมูลค่า 6,954 ล้านบาท ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมาธิการแล้วหรือไม่ และถูกปรับลดไปหรือไม่อย่างไร” นายพิธา กล่าว

ในกรณีของกองทัพเรือ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีเรือดำน้ำที่เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงตั้งข้อสังเกตว่าการที่กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำอาจไม่พอ มิเช่นนั้นในแต่ละปีก็ต้องมาตามลุ้นว่าจะมีการนำเข้ามาพิจารณาในกรรมาธิการงบประมาณอีกหรือไม่ ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทุกปี คำถามคือ เรือดำน้ำยังมีความจำเป็นอยู่ในความท้าทายของบริบทโลกปัจจุบันนี้อยู่อีกหรือไม่

“หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เกือบ 80 ปี ทั่วทั้งโลกเรือดำน้ำเคยได้ใช้จมเรือข้าศึกแค่สองครั้งเท่านั้น คือปี พ.ศ. 2514 สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งเรือดำน้ำปากีสถานจมเรือรบอินเดีย และปี พ.ศ. 2525 สงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ซึ่งเรือดำน้ำอังกฤษจมเรือรบอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตามภัยคุกคามทางทะเลยุคใหม่ในขณะนี้คือ Hybrid Maritime Warfare หรือสงครามลูกผสม เป็นสงครามที่มีการรุกรานอธิปไตยทางทะเลกันโดยการหลีกเลี่ยงกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ใช้เรือประมงนำมลพิษไปทิ้งในน่านน้ำฝ่ายตรงข้ามหรือนำเรือประมงติดอาวุธ เพราะถ้าหากใช้ความรุนแรงตอบโต้อย่างอาวุธขนาดใหญ่จะเป็นฝ่ายผิดกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง ดังนั้นการซื้อเรือดำน้ำและอาวุธขนาดใหญ่อาจไม่ตอบโจทย์ภัยคุกคามในยุคนี้ และขอตั้งคำถามไปยังผู้บัญชาการทหารเรือว่ามีแนวทางในการรับมือสงครามลูกผสม หรือ Hybrid Maritime Warfare อย่างไร มียุทธศาสตร์อย่างไร?” นายพิธา ระบุ

กรณีของกองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายพิธา กล่าวว่า มีประเด็นข้อสังเกตคือการบริหาร ธุรการ การเงิน กฎหมาย ของกองทัพที่มีความซ้ำซ้อนกันของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ มีกรมการเงินกลาโหม บก.ทท มีกรมการเงินทหาร และสำนักปลัดกระทรวงฯมีสำนักตรวจสอบภายในกลาโหม บก.ทท มีสำนักตรวจสอบภายในทหาร และกรณีที่สำนักปลัดกระทรวงฯ มีกรมพระธรรมนูญ และกองบัญชาการกองทัพไทยมีสำนักงานพระธรรมนูญทหาร และสำนักปลัดกระทรวงฯ มีกรมสรรพกำลังกลาโหม แต่ บก.ทท มีกรมกำลังพลทหาร

“สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยโดยภารกิจแล้วถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกา ก็คงเทียบได้กับ Joint Forces Command ที่มีหน้าที่อำนวยการปฏิบัติการร่วม เช่นเดียวกัน ซึ่งในปี พ.ศ.2554 หลังจากวิกฤติแฮมเบอเกอร์ อเมริกาต้องตัดงบทหาร ก็ได้ยุบ Joint Forces Command ไปด้วยเหตุผลทางงบประมาณ นี่แสดงให้เห็นว่าการการยุบและควบรวมกองกำลังไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือเกินความเป็นไปได้แต่อย่างใด และหากประเทศไทยยุบกองบัญชาการกองทัพไทยซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับสำนักปลัดกระทรวงฯ ก็จะช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณไปได้ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่า ในกรณีของเรื่องบุคลากรกองทัพบก ที่เป็นเรื่องสำคัญและจะช่วยในเรื่องการปฏิรูปกองทัพด้วยนั้น ซึ่งจากข้อมูลสถานภาพกำลังพลทหารบกเมื่อปี 2561 ที่เผยแพร่โดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยเป็นรายงานของ สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล ในสมัยที่ยังครองยศพลตรี และวันนี้ท่านจะมาชี้แจงในส่วนของหน่วยงานอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ด้วย ตอนนั้นท่านได้เขียนรายงานที่ชื่อว่า”การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” พบว่ากองทัพบกมีการบรรจุอัตรากำลัง 260,000 นาย เป็นส่วนการรบ รวมไปถึงการมีส่วนสนับสนุนการรบ เช่น ทหารปืนใหญ่ ปืนต่อต้านอากาศยาน เป็นจำนวน 160,000 อัตรา และอีก 100,000 นาย น่าจะใช้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมทดแทนได้ โดยทหารจำนวน 160,000 นาย ที่กล่าวถึงนั้น ซึ่งจาก 160,000 นาย มีทหารที่ทำหน้าที่ภารกิจหลักคือการป้องกันชายแดนเพียงแค่ 25,000 นายใช้สนับสนุน กอ.รมน. 28,000 นาย สรุปว่ามีเพียง 53,000 นาย เท่านั้นเองที่ทำภารกิจหลักของกองทัพ ซึ่งก็หมายความว่าส่วนที่เหลือทำภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

“การที่ทหารมีบุคลากรไปทำหน้าที่อื่น ที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของกองทัพ และหน้าที่เหล่านั้นก็มีหน่วยงานพลเรือนอื่นทำอยู่แล้ว เหตุใดต้องมีภารกิจไปทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น มิเช่นนั้นนำภารกิจเหล่านั้น ให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง โอนงบประมาณ โอนทรัพยากรเหล่านั้น และทำให้กองทัพมีภารกิจที่ชัดเจนมากขึ้น น่าจะตอบโจทย์ประเทศมากกว่าหรือไม่” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย