ส.ส.กทม.ก้าวไกล แนะทางแก้โควิดพื้นที่สีแดง จากเตียงผู้ป่วย-วัคซีน-เยียวยาจนถึงแรงงานต่างชาติ

‘ก้าวไกล กรุงเทพ’ สะท้อนปัญหาจริงจากพื้นที่ ‘สีแดงเข้ม’ ‘ณัฐพงษ์’ แนะ 6 ข้อ พัฒนาระบบรุกตรวจ ส่งต่อ หาเตียง ‘เท่าพิภพ’ ถามหาความชัดเจนการเยียวยาก่อนยกระดับ ‘ล็อกดาวน์’ เผยสถานการณ์วิกฤตสูง ต้องเร่งทำ ICU สนามลดการสูญเสีย ด้าน ‘ณัฐชา’ จี้ ดูเเล ‘เเรงงานต่างชาติ’ ไม่เลือกปฏิบัติก่อนบานปลาย เผย บางโรงงานตรวจเองเจอติดเชื้อกว่า 60 % แต่ไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ หวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ไม่รู้จบ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ ณัฐพงษ์​ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม.เขต 28 บางเเค ภาษีเจริญ​, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.เขต 22 บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม.เขต 25 บางขุนเทียน ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันแถลงข่าวออนไลน์ เพื่อสะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นปัญหาจริงในพื้นที่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไม่ใช่มาตรการแบบลูบหน้าปะจมูกดังที่ผ่านมา
.
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอส่งกำลังใจให้ประชาชนทุกคน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เขตบางแค ซึ่งตนเป็น ส.ส. สำหรับข้อเสนอ รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนและในบางเรื่องก็ควรต้องรวมศูนย์ในการจัดการโดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญต่อวิกฤตนี้ นั่นคือ เรื่องของการจัดหาเตียงที่มีปัญหาและความสับสนมาก นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพื่อสะท้อนไปยังรัฐบาลใน 6 ประเด็น ได้แก่
.
ประเด็นเเรก การใช้ชุดตรวจ Rapid antigen test เพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ รัฐบาลไทยนำมาตรการนี้มาใช้ล่าช้ากว่าต่างประเทศหลายเดือน และเพิ่งจะมาปลดล็อกไม่นานมานี้ แต่ยังมีปัญหาตามมาคือ พบผู้ติดเชื้อแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการใดต่อได้เลย ยังต้องรอผลตรวจเเบบ RT PCR ซึ่งเสียเวลา โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยวิกฤตยิ่งไม่สามารถรอได้ รัฐบาลจะต้องรับรองให้ผลตรวจจาก Rapid antigen test สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้รักษาในกระบวนการ Home Isolation ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลตรวจแบบ RT PCR
.
ประเด็นที่สอง การเเสดงผลตัวเลขผู้ติดเชื้อจากผลตรวจ RT PCR ไม่สามารถทำให้รับทราบผลของผู้ติดเชื้อจริงว่ามีเท่าไร หลังจากที่มีการตรวจชัดเจนเเล้ว รัฐบาลจะต้องมีความโปร่งใส โดยเเยกตัวเลขจากผลตรวจ RT PCR และตัวเลขจาก Rapid antigen test เพื่อให้ประชาชนได้ทราบอย่างชัดเจน ขอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่หากรัฐบาลบริหารจัดการได้ดี คงไม่มีการสูญเสีย โดยเคสนี้เป็นคุณแม่ท่านหนึ่งที่ติดเชื้อและมีอาการหลายวัน แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เพราะติดปัญหาจากการไม่มีผลตรวจแบบ RT PCR จนทำให้ต้องสูญเสีย ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการไม่กระจายศูนย์ของรัฐบาล
.
ประเด็นที่สาม การสื่อสารให้ชัดเจน อย่างในเรื่องของ Home Isolation รายละเอียดเป็นอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล ยกตัวอย่างเคสหนึ่งในเขตหนองเเขม สตรีมีครรภ์หลายรายรอเตียงมาหลายสัปดาห์ บางคนอาจต้องบอกว่ารอเตียงจนหายเเล้วด้วยซ้ำ แต่รัฐไม่ควรละเลยต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพราะบางคนอาจไม่หายแต่กลายเป็นเสียชีวิตก็ได้ เมื่อรู้ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่บ้านไหน รัฐจะต้องส่งอุปกรณ์ทางการเเพทย์ไปให้อย่างเร่งด่วน อย่างกรณีญี่ปุ่น เมื่อมีการทำ Home Isolation ทางรัฐบาลส่งเครื่องวัดออกซิเจนให้กับประชาชนทุกบ้าน เพื่อประเมินความหนักเบาของอาการ ช่วยประคองชีวิตประชาชน ลดความสูญเสียได้ในหลายอัตรา
.
ประเด็นที่สี่ ศูนย์พักคอย เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก กรณีของเขตบางเเคมีกว่า 40 ชุมชน ไม่ใช่ทุกครัวเรือนจะมีฐานะ หลายครอบครัวต้องอาศัยอยู่รวมกัน เมื่อใครคนหนึ่งติดเชื้อจึงป้องกันได้ยาก ตนรับทราบข้อมูล อำนาจ ปานเผือก ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางเเค พรรคก้าวไกล ว่า ขณะนี้มีหลายครัวเรือนติดเชื้อและต้องการแยกตัวออกไป เพื่อลดการเเพร่เชื้อเเละกระจายความเสี่ยง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรองรับในเรื่องเหล่านี้
.
ประเด็นที่ห้า บุคลกรทางการเเพทย์และสาธารณสุข ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเกราะป้องกัน ซึ่งพวกเขาควรต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด แต่เรายังได้รับการข้อมูลมาว่า ขณะนี้ยังมีทีมแพทย์เเละพยาบาลที่ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่ง ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ได้รับการตรวจเชื้อโควิดอย่างเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยอ้างว่าใช้ต้นทุนสูง เรื่องนี้จึงขอให้รัฐแก้ไขอย่างเร่งด่วน
.
ประเด็นสุดท้าย งานธุรการเอกสาร คิดว่าต้องพอได้เเล้วสำหรับยุคปัจจุบันที่รัฐบาลบอกว่าจะเป็นรัฐบาลดิจิตอล แต่กลับยึดติดกับงานเอกสาร ต้องบอกว่า ขณะนี่ทุกๆงานเอกสารกำลังหมายถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะการรอใบตรวจ หรือผลตรวจที่ต้องการเอกสารยืนยัน แต่นี่คือต้นทุนชีวิตที่ประชาชนต้องสูญเสียไป เป็นอีกเรื่องที่ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปรับปรุงแก้ไข
.
ด้าน เท่าพิภพ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ หากรัฐบาลต้องการล็อกดาวน์ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เเต่จะต้องมีการเยียวยาอย่างเหมาะสมออกมาด้วย เเต่อย่างเช่นเคย เหมือนรัฐบาลยังไม่ได้คิดอะไรนอกจากสั่งล็อกดาวน์ทำตามอำเภอใจผ่านการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกำลังจะล็อกดาวน์เพิ่มอีก 3 จังหวัด ซึ่งความรู้สึกของประชาชนจากการที่ตนลงพื้นที่รับฟังมา เขาต้องการรู้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาอะไรเขาบ้างเมื่อมีคำสั่งออกมา และหาก14 วันไม่ดีขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ ต้องมีขั้นตอน มีความชัดเจนให้เขาวางแผนได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าหากยังไม่มีการตรวจเชิงรุก หรือเพิ่ม ICU สนาม ล็อกดาวน์ไปก็ไม่มีประโยชน์
.
“ในส่วนประเด็นการหาเตียงในพื้นที่ กทม. ค่อนข้างวิกฤตสูง แต่รัฐบาลยังลอยเเพ ทำตัวเหนือปัญหา ปล่อยให้ประชาชนล่องลอยในการหาเตียงกันเอง เราได้รับแต่เรื่องราวจากพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องของความสูญเสีย เป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจ รัฐบาลพยายามให้ประชาชนโทรเบอร์ 1669 หรือ 1330 เพื่อเป็นช่องทางในการหาเตียง แต่ปัญหาคือ การโยนเเละผลักภาระกันไปมาระหว่างหน่วยงาน ยิ่งประชาชนโทรหลายสายการทำงานก็ยิ่งช้าลง จึงอยากฝากให้รัฐบาลรวมศูนย์อำนาจในการจัดหาเตียงมาที่ ศบค. อย่างชัดเจน และจัดทำแอพลิเคชั่นในการลงทะเบียนเพื่อความรวดเร็วและโปร่งใส จะได้ไม่มีข้อครหา ว่าการหาเตียงให้ผู้ป่วยเอื้อเเต่คนรวย กลุ่มอภิสิทธิ์ชน รัฐบาลต้องทำระบบให้เป็นระบบเดียว วันนี้มีผู้ป่วยกว่า 12,000 คน แต่ประชาชนกลับไม่เห็นอนาคตเเละสิ้นหวังจากรัฐบาล ขอให้ดูเเลสภาพจิตใจประชาชนด้วย เเละควรจัดทำศูนย์พักคอย และ ICU สนามเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยสีเเดงได้แล้ว”
.
ณัฐชา กล่าว่า อีกปัญหาที่ถูกละเลยจากภาครัฐคือ การดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเเรงงานข้ามชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร โดยยกตัวอย่าง ชุมชนวงเเหวนชัชวาลย์ เทียนทะเล 26 ซึ่งมีเเรงงานข้ามชาติมากกว่า 2,000 ราย ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือไม่มีการตรวจเชิงรุกในกลุ่มนี้ทั้งที่เป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหม่อย่างมาก เพราะเป็นแหล่งโรงงานและบริษัทเอกชน รวมถึงมีชุมชนอยู่โดยรอบ อย่างบางโรงงานหรือบริษัทเมื่อทดลองตรวจเชิงรุกกันเอง จาก 30 – 40 คน พบการติดเชื้อถึง 20 ท่าน เรียกว่าพบเป็นร้อยละ 60 % ของผู้ได้รับการตรวจเชิงรุกโดยประมาณ ปัญหาก็คือพบแล้วก็ไม่สามารถที่จะควบคุมการกระจายของเชื้อได้เลยหากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยแบบนี้
.
“ไม่มีการตรวจเชิงรุก ไม่มีการบอกว่าติดหรือไม่ติด นอกจากการตรวจกันเองแต่ไม่มีการเข้ามาเยียวยาดูเเลแต่อย่างใด พวกเขายังคงอยู่กันแบบปะปนแม้บางคนจะรู้ว่าติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเเพร่เชื้ออย่างสูง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เเรงงานต่างชาติจำนวนมากถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้เขาก็ต้องไปหางานอื่นทำเรื่อยไป สำหรับคนหาเช้ากินค่ำหรือหาค่ำกินเช้า เขาหยุดไม่ได้ เขายังต้องเอาตัวเองออกไปทำงาน ทั้งๆที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด เขายังต้องใช้แเรงงานแลกค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน

“ผมอยากให้รัฐบาลมองเห็นเเรงงานข้ามชาติเป็นเพื่อนมนุษย์และเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลควรช่วยเหลือดูเเล ต้องบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่างรวมถึงมนุษย์ภายใต้รั้วรอบขอบชิดของประเทศนี้ ไม่ว่ามาตรการทางด้านสาธารณสุขหรือคุณภาพชีวิตอื่นๆ เพราะบางคนถึงกักตัวแยกให้หอพักคนงาน แต่เมื่อไม่มีอาหารไม่มีข้าว เขาก็ต้องออกมาหาซื้อในชุมชน เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลจะควบคุมการระบาดของโควิด 19 ได้อย่างไร นี่เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง หลายพื้นที่ เป็นสาเหตถเกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหม่ไปเรื่อยๆรวมถึงการขยายวงเข้าไปติดในชุมชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเเรงงาน ดูแลแรงงานให้ดีอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ เร่งแก้ไขให้ถึงจุดต้นตอของปัญหา เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดเเละกระจายเชื้อเป็นวงกว้างอย่างเร่งด่วน”
.
ณัฐชา ยังได้กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่พรรคก้าวไกลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า กทม.ยังคงวิกฤติในทุกพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 10,000 ราย ติดต่อกันมา 3 วัน ยอดผู้เสียชีวิตเเตะร้อยทุกวัน ยังมีปัญหาทั้งด้านการจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วย การตรวจเชิงรุก และการบริการทางด้านสาธารณสุข การดูเเลหลังพบการติดเชื้อ หรือ Home Isolation ที่ยังไม่มีเเนวทางที่ชัดเจน รวมถึงกระบวนการฉีดวัคซีนที่ไม่มีความเเน่นอน พี่น้องประชาชนยังไม่รู้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนประเภทไหนวันไหน จึงคิดว่าถึงขณะนี้ รัฐบาลนี้ก็ยังคงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เลย