ศบค.เผยผลการคาดการณ์ โควิดไทยแบบแย่สุด ชี้ไร้มาตรการอาจติดเชื้อวันละ 3 หมื่นคน

ศบค.เผย ยอดติดเชื้อวันนี้พุ่งสูง 11,784 ราย กทม.ตัวเลขยังน่าห่วงทะลุ 2 พันกว่า พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง พบ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ฉะเชิงเทราเจอถึง 60 ราย ส่วนตลาดโรงเกลือ 55 ราย

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19 ) (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 11,784 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 11,674 ราย ติดเชื้อจากการเดินทางจากต่างประเทศ 10 ราย คัดกรองในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 100 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 386,307 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 415,170 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 5,741 ราย หายป่วยสะสม 262,225 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 289,651 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 81 คน เสียชีวิตสะสม 3,328 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 3,422 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 122,097 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 71,635 ราย โรงพยาบาลสนาม 50,462 ราย อาการหนัก 3,595 ราย ใช้เครื่องช่วยหัวใจ 856 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนวัคซีนทั่วประเทศ รวม 14,298,596 โดส โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 10,850,099 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 3,448,497 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาทาง ศปก.ศบค. มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารสื่อมวลชน ซึ่งได้มีการสอบถามถึง ความเป็นไปได้ถึงการคาดการณ์การติดเชื้อของประเทศเราว่าจะเป็นอย่างไร วันนี้ตนมี 2 รูปแบบของการคาดการณ์ โดยรูปแบบแรก รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพผลการการณ์ด้วยแบบจำลอง วันที่ 12 มกราคม 63-31 ตุลาคม 64 คาดการณ์ว่าแย่ที่สุดหรือจุดสูงสุดที่จะเกิดเคส หากไม่ได้ทำอะไรปล่อยให้มีการติดเชื้อไปเรื่อยๆ จะเกิดการติดเชื้อรายวันถึง 31,997 รายต่อวัน แต่หากเราทำให้ดีที่สุด จะอยู่ที่ 9,018-12,605 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งเป็นการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทาง WHO ได้นำไปอ้างอิง ใช้รูปแบบของการคาดการณ์และการฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นถึงปลายปี หากเราฉีดวัคซีนได้ดี best case จะลงมาช่วงเดือนก่อนกันยายน แต่หากแย่ที่สุด กราฟจะโด่งสูงสุด จะสูงถึง 22,000 ราย ช่วงสิงหาคม-กันยายน และค่อยๆ ลงมาช่วงเดือนตุลาคม หากวัคซีนมาตามกำหนดช่วงไตรมาสที่ 4

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวสรุปข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 28 ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื้อหาสาระสำคัญ อาทิ มีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่ม จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ควบคุมสูงสุดจากเดิม 24 จังหวัด เป็น 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุมจาก 25 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูงจาก 18 จังหวัดเป็น 1 จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต ส่วนพื้นที่สีเขียวจะไม่มีเลย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนและกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามออกนอกเคหสถาน เวลา 21.00-04.00 น. ยกเว้นบุคคลที่ได้รับอนุญาต ลดการเดินทางในพื้นที่และงดการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่การเดินทางเพื่อซื้อเครื่องอุปโกคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การพบแพทย์ การรับวัคซีน ให้ WFH 100% ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และให้เอกชน WFH เต็มขีดความสามารถ จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกิน 50 % ของความจุ ของผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท *ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน

ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ห้ามทานในร้าน+take away เท่านั้น เปิดได้ถึง 20.00 น. ห้าง/ศูนย์การค้า/คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะแผนก ซูเปอร์มาร์เก็ต ยาและเวชภัณฑ์ และพื้นที่การให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ของภาครัฐ เปิดได้ถึง 20.00 น. โรงแรม เปิดได้ปกติ งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ปิดตั้งแต่ 20.00-04.00 น. โรงเรียน/สถานศึกษา/สถาบันการศึกษา เรียนผ่านระบบทางไกล งดใช้อาคารในการเรียนแบบ ON-SITE

ส่วนกิจการต่อไปนี้เปิดได้ตามความจำเป็น+ต้องดำเนินการตามมาตรการ สธ. อย่างเคร่งครัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสาร คมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online)

อย่างไรก็ตาม ทาง ศบค.ได้มอบให้จังหวัดแต่ละจังหวัดไปออกประกาศข้อกำหนดให้สอดคล้องและเข้มข้นมากขึ้น เช่น สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สวนสาธารณะ ร้านทำผม เล็บ ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า ดังนั้น ขอให้รอการประกาศรายละเอียดของแต่ละจังหวัด

นอกจากนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ยังได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต จำนวน 81 คน แบ่งเป็น ชาย 50 คน หญิง 31 คน โดย กทม.สูงสุด 26 คน ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว หรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน การเข้าไปสถานที่แออัด พลุกพล่าน เป็นต้น ส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย แบ่งเป็น เมียนมา 6 ราย กัมพูชา 3 ราย สหรัฐอาหรับเมริเรตส์ 1 ราย

สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่สูงสุด อันดับ 1.กรุงเทพมหานคร 2,134 ราย ยอดสะสม 114,928 ราย อันดับ 2.สมุทรสาคร 765 ราย ยอดสะสม 17,762 ราย
อันดับ 3.ชลบุรี 615 ราย ยอดสะสม 15,988 ราย อันดับ 4.สระบุรี 494 ราย ยอดสะสม 4,048 ราย อันดับ 5.ปทุมธานี 485 ราย ยอดสะสม 15,274 รายอันดับ 6 พระนครศรีอยุธยา 484 ราย ยอดสะสม 4,954 ราย อันดับ 7.สมุทรปราการ 483 ราย ยอดสะสม 27,703 ราย อันดับ 8.นนทบุรี 381 ราย ยอดสะสม 17,370 ราย อันดับ 9.ปัตตานี 296 ราย ยอดสะสม 5,985 ราย และ 10.ตาก 267 ราย ยอดสะสม 2,346 ราย

สำหรับ การระบาดในจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น พบ คลัสเตอร์ใหม่กระจายตามจังหวัดต่างๆ จำนวน 8 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.จ.สมุทรสาคร ที่เมืองสมุทรสาคร โรงงานโลหะ พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย 2. จ.ชลบุรี ที่บางละมุง ห้างสรรพสินค้า พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย 3.จ.ปทุมธานี ที่ธัญบุรี โรงงานพลาสติก พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย 4. จ.นนทบุรี ที่เมืองนนทบุรี ตลาดสินทอง พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย 5.จ.ฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ พบผู้ติดเชื้อ 60 ราย 6. จ.สระแก้ว อรัญประเทศ ตลาดโรงเกลือ พบผู้ติดเชื้อ 55 ราย 7. จ.ลพบุรี ที่เมืองลพบุรี ห้างสรรพสินค้า พบผู้ติดเชื้อ 23 ราย และ 8. จ.พัทลุง ที่เมืองพัทลุง โรงงานแปรรูปไก่ พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย