“จาตุรนต์” เสนอแผน 12 ข้อแก้โควิด ยกเครื่องใหม่หมด ซัดรัฐบาลล้มเหลวสิ้นเชิงแล้ว!

วันที่ 19 กรกฎาคม จากกรณีที่ประชุม ศบค. มีมติให้มีการล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ ยะลา ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับกำหนดให้ประชาชนห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นกรณีจำเป็นนั้นเกี่ยวกับกรณีนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

รัฐบาลล้มเหลวแก้โควิดสิ้นเชิงแล้ว

ยกระดับล็อกดาวน์ไม่ช่วยคลายวิกฤต

ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ยกเครื่องแก้ทั้งระบบเท่านั้น

สถานการณ์โควิดแย่ลงอย่างรวดเร็ว การล็อกดาวน์ 10 จังหวัด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาจชะลอการแพร่ระบาดไปได้บ้าง แต่โดยรวมผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อแยกผู้ติดเชื้อมาดูแลรักษา การแพร่เชื้อจึงยังเกิดอย่างต่อเนื่อง
สายพันธุ์เดลต้าที่แรงและอันตรายกลายเป็นสายพันธุ์หลักเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ ขณะที่วัคซีนที่บุคลากรทางสาธารณสุขและคนในประเทศไทยจำนวนมากได้รับไป ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีพอ
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับจังหวัดสีแดงเข้มหลายจังหวัดอยู่ในสภาพเตียงเต็ม ขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละเป็นหมื่นและมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ที่รอรักษาจำนวนมากก็ไม่ได้รับยาต้านไวรัสหรือได้รับช้า ผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศบค.จะยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการ แต่ตราบใดที่ยังไม่เพิ่มการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การแพร่ระบาดก็จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและผู้ป่วยก็จะมากขึ้นไหลบ่าเข้าสู่ระบบสาธารณสุขแล้วก็จะรับมือไม่ไหวเหมือนเดิม
หากสถานที่กักตัว ที่พักคอย ห้องรักษาพยาบาล เตียง อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ยังอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนอย่างหนักเช่นปัจจุบัน ความสูญเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นขึ้นที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงก็จะไม่สามารถหยุดยั้งหรือชะลอการแพร่ระบาดได้
ในทางยุทธศาสตร์การจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแก่ประชากรจำนวนมากพอโดยเร็วที่สุด แต่แผนการจัดหาวัคซีนก็ล่มเสียแล้ว วัคซีนที่มีก็ไม่มีประสิทธิภาพพอและถูกยืดเวลาการส่งมอบออกไปทำให้วัคซีนหายไปจากแผนที่เคยประกาศไว้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านโดส แต่รัฐบาลก็ยังทำเหมือนไม่รับรู้ปัญหา ไม่กระตือรือร้นจัดหาวัคซีนให้รวดเร็วและเพียงพอ
รัฐบาลไทยดื้อรั้นเย่อหยิ่ง ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX และไม่พยายามแสวงหาความร่วมมือช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำนวนมากในเวลาสั้นๆ จึงยากลำบาก
.
ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการบริหารจัดการผิดพลาดมาตั้งแต่การจัดโครงสร้างองค์ ใช้กฎหมายไม่สอดคล้องกับปัญหาและวางแผนผิดในเรื่องสำคัญเกือบทุกด้านตั้งแต่ต้น และไม่มีแนวโน้มที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบจะเข้าใจปัญหา ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายและมาตรการต่างๆ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปสถานการณ์ย่อมจะเลวร้ายลงไปอีกจนยากจะเยียวยา
เมื่อปัญหามากมายประเดประดังเข้ามา การจะแก้ไขแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่อาจกอบกู้สถานการณ์ได้แน่ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ ยกเครื่องนโยบายและมาตรการรับมือวิกฤตทั้งระบบเป็นการใหญ่โดยเร็วที่สุด โดยจะต้องดำเนินการดังนี้
1.สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข หาทางข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการรับมือด้านต่างๆ สร้างความร่วมมือการจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงตรงจุดและเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สาย
2. สร้างความร่วมมือและรับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เปลี่ยนนโยบายเย่อหยิ่งอยู่ในกะลา ไม่สนใจที่จะร่วมมือกับประเทศอื่น ประเทศที่พัฒนาแล้วมีโครงการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการจัดหาวัคซีนและเวชภัณฑ์ ทั้งที่ผ่านโครงการ COVAX และที่ประสานโดยตรงกับแต่ละประเทศ หลายประเทศให้ความช่วยเหลือบริจาควัคซีนเป็นช่องทางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ (vacine diplomacy) ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในการแสวงหาความช่วยเหลือและช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่า หากรู้จักดำเนินการอย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์มาก
3.นายกฯ หารือผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างระบบความร่วมมือ 4 ประเทศ การไม่ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ แต่ละประเทศก็ประสบวิกฤตโควิดด้วยกันทั้งหมด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่แต่ละประเทศจะแก้ปัญหาได้โดยต่างคนต่างทำ ต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาโรค
4.ดูแลชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติในประเทศด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับพลเมืองไทย ที่ผ่านมาไทยไม่มีนโยบายดูแลชาวต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติ ชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลประเทศของตนส่งมาให้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีช่องทางในการฉีดวัคซีนและรักษาพยาบาล จึงต้องกำหนดนโยบายใหม่ในการดูแลทางสาธารณสุข ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าอารยประเทศยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนและมีมนุษยธรรม
5.ยกเลิกแผนการจัดหาวัคซีนแล้วเปลี่ยนแผนใหม่ทั้งหมดให้ประชาชน 50-70% ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพภายในปีนี้ ความล่าช้าและจงใจผูกขาดและจำกัดการใช้วัคซีนอยู่เพียง 2 ยี่ห้อมาตั้งแต่ต้น เมื่อการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่เป็นไปตามแผนและซิโนแวคไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ แผนการจัดหาวัคซีนจึงล่ม
ดังนั้นจึงต้องรีบทำ
5.1 ยกเลิกแผนการใช้วัคซีนซิโนแวคที่เหลือทั้งหมด เสมือนไม่มีซิโนแวค 30 กว่าล้านโดสและตระหนักว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาขาดหายไปประมาณ 30 ล้านโดส เท่ากับในปีนี้วัคซีนหายไปจากแผนประมาณ 60 ล้านโด๊ส
5.2 เจรจากับแอสตราเซนเนกาและสยามไบโอไซนส์เพื่อหาทางผลิตวัคซีนให้ได้มากขึ้นเร็วขึ้น
5.3 ขอความร่วมมือช่วยหลือจาก COVAX ในการหาวัคซีน
5.4 รัฐบาลประสานติดต่อกับประเทศต่างๆ ที่มีวัคซีนคุณภาพ โดยใช้ทุกช่องทางความสัมพันธ์ทุกระดับ เพื่อซื้อวัคซีนคุณภาพมาให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด
5.5 สั่งให้ อย. ริเริ่มทำงานเชิงรุกรับรองวัคซีนคุณภาพยี่ห้อต่างๆ ให้มากขึ้นโดยเร็ว และรัฐบาลสนับสนุนให้ภาคเอกชนและหน่วนงานของรัฐนำเข้าวัคซีนคุณภาพโดยไม่จำกัดว่าจะซ้ำกับที่รัฐบาลนำเข้าหรือไม่ สั่งให้หน่วยงานของรัฐหยุดทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางภาคเอกชน
5.6 วางแผนซื้อวัคซีนสำหรับปีหน้าทั้งปีซึ่งจะต้องมีคุณภาพรับมือกับการกลายพันธุ์ โดยไม่กลัวสิ้นเปลืองงบประมาณ พร้อมกับเร่งแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
6.วางหลักเกณฑ์ในการกระจายวัคซีน จัดลำดับความสำคัญตามความเสี่ยงในการติดเชื้อ การเสียชีวิตและการแพร่เชื้อและความจำเป็นในการดูแลรักษาผู้อื่น ไม่ขึ้นกับสถานะรวยหรือจน ขนาดของบริษัทหรือกิจที่ทำงาน ความสามารถในการซื้อหาวัคซีนของพื้นที่ที่อาศัยอยู่ สัญชาติหรือการมีเอกสารหลักฐานทางกฎหมาย ที่ผ่านมาการกระจายวัคซีนกลับหัวกลับหางทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีการจัดหาวัคซีนโดยภาคเอกชนและองค์ต่างๆ รัฐบาลต้องจัดระบบศูนย์ข้อมูล (Data analytic) วิเคราะห์ผลการกระจายเพื่ออุดช่องโหว่ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
7.เปลี่ยนแผนการตรวจคัดกรองจากตรวจน้อยเป็นตรวจมาก จากวันละประมาณ 60,000 ครั้งต่อวันเป็น 200,000 ครั้งต่อวันและตั้งเป้าเพิ่มเป็น 500,000 ครั้งต่อวันโดยเร็วที่สุด เร่งนำเข้า Rapid antigen test kit ให้ได้ 10-20 ล้านเครื่องในเวลา 2-3 เดือน อบรมบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 150,000 คนใน 2 สัปดาห์ เร่งแก้ปัญหาอุปสรรคในการนำเข้า และรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพผลักดันให้เกิดการนำเข้า รวมทั้งออกหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงและบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับการตรวจ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชนและประชาชน จัดหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่กำหนด ตั้งเป้าหมายจำนวนครั้งที่ตรวจและระยะเวลาในการดำเนินการ เพิ่มการตรวจเชิงรุก โดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
8.เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยสั่งให้แต่ละจังหวัดเร่งเพิ่มเตียงตามสัดส่วนประชากรและความรุนแรงการแพร่ระบาด ให้ได้รวมกันประมาณสัปดาห์ละ 50,000 เตียง เพื่อใช้สำหรับการกักตัว พักคอยและรักษา ใน hospitel สถานพักคอย โรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาล พร้อมทั้งอนุญาตให้ผู้ป่วยข้ามจังหวัดได้ ส่งเสริมจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยเปิดรับผู้ป่วยจากจังหวัดที่มีผู้ป่วยล้นเตียง
9.ร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งผลิตและนำเข้าเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนบรรจุถังพร้อมใช้ให้มากที่สุด รัฐบาลควรเปิดเผยสต๊อคอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนบรรจุถัง และชี้แจงให้สาธารณชนทราบว่าจะผลิตและนำเข้าเพิ่มได้อีกเท่าไร โดยศึกษากรณีตัวอย่างจากอินเดีย อินโดนีเซียและล่าสุดเมียนมาร์ ที่เกิดปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนกำลังทวีความรุนแรงขึ้น
10.เร่งนำเข้ายาต้านไวรัสอย่างน้อย 20 ล้านเม็ดและผลิตสมุนไพรฟ้าทะลายโจรชนิดสกัดหลายล้านเม็ดและยาอื่นที่จำเป็นให้เพียงพอและทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์ในการให้ยาให้ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอได้รับยาเร็วขึ้น
11.เลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการณ์ในสานการณ์ฉุกเฉิน แล้วรีบออก พ.ร.ก.ใหม่เพื่อแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้สามารถใช้ควบคุมโรคและรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นแกนหลักรับผิดชอบในการทำงานแทนหน่วยงานมั่นคง จัดองค์กรให้มีความสมดุลย์ระหว่างการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมบทบาทของกระทรวงต่างๆ และวางระบบให้เกิดการประสานร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
12.เปลี่ยนโครงสร้างองค์ประกอบของ ศบค. เสียใหม่ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.โรคติดต่อที่ปรับปรุงใหม่ ยุบเลิกกรรมการเฉพาะกิจบูรณาการแพทย์-สาธารณสุข ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน แล้วตั้งคณะใหม่ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
.
แผนทั้งหมดนี้สามารถทำได้จริงและสามารถเกิดผลได้ในเวลาไม่นาน เพียงแต่นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับก่อนว่านโยบายและแผนที่ทำอยู่นั้นล้มเหลว ไม่อาจรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงอยู่ในขณะนี้ได้แล้ว จะต้องรีบทำความเข้าใจแล้วสั่งการ รื้อแผนที่ใช้อยู่แล้วเปลี่ยนแผนใหม่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
แต่หากนายกรัฐมนตรียังดื้อดึงทำแบบที่ได้ทำมาต่อไป ซึ่งเห็นกันอยู่ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สถานการณ์ต่างๆ ก็คงจะเลวร้ายมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์อาจแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลอาจเป็นหนทางที่ดีกว่า