‘วัฒนา’ เตือนมัคคุเทศก์ อย่าพาทัวร์ลงผิดที่ ชี้คนแก้ไขโควิดคือ ‘ประยุทธ์’ ไม่ใช่ สธ.

เคลื่อนไหวแล้ว! วัฒนา เมืองสุข โพสต์เฟสบุ๊ก เตือนมัคคุเทศก์ อย่าพาทัวร์ลงผิดที่ คนรับผิดชอบแก้ไขโควิดคือนายกรัฐมนตรีที่รวบอำนาจไว้คนเดียว ทั้งคุมการแพร่ระบาด-เตียงผู้ป่วย-วัคซีน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่นานนี้ นายวัฒนา เมืองสุข พรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความในหัวเรื่อง “ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาโควิด-19” โดยมีเนื้อหาจำแนกผู้ที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 เตือนมัคคุเทศก์อย่าพาทัวร์ไปลงผิดที่ มีเนื้อหาดังนี้

(1) กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่แรกจนปัจจุบัน จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดสูงถึง 10,082 คนต่อวัน เสียชีวิตเพิ่มถึง 141 คน อยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 ส่วนที่เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อินเดียเกิดจากการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

(2) การจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตามมาตรา 10 (2) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งรวบอำนาจดังกล่าวไปเป็นของตนเอง

ดังนั้น หากจะถามว่าเหตุใดจึงสั่งซื้อช้า หรือทำไมยังสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค ไม่ซื้อยี่ห้ออื่นมาฉีดให้ประชาชนบ้างก็ต้องไปถามคณะกรรมการชุดนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

(3) การจัดซื้อวัคซีนให้สถานพยาบาลและวัคซีนทางเลือกเพื่อใช้ในโรงพยาบาลเอกชน เช่น วัคซีนโมเดอร์นาที่โรงพยาบาลเอกชนซื้อจากองค์การอนามัยไปในราคาโดสละ 1,100 บาท แต่คิดค่าฉีดจากประชาชนถึงโดสละ 1,700 บาท เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564

ดังนั้น ถ้าจะถามว่าทำไมปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนขูดเลือดประชาชนเอากำไรสูงถึงเกินกว่า 50% ในสถานการณ์ที่ประชาชนทุกข์ยากก็ต้องไปถามนายกรัฐมนตรีว่าเหตุใดจึงแต่งตั้งตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นกรรมการหลายคน ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

(4) การที่ระบบสาธารณสุขล่มเตียงไม่พอให้บริการผู้ป่วยถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ที่มีหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดแต่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเป็นปลายน้ำเพราะรับผิดชอบการรักษาผู้ป่วยที่ต้นทางปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดจนล้นระบบ
.
(5) การควบคุมการแพร่ระบาดรวมถึงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน กทม. เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2564 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สำหรับโรงพยาบาลใน กทม.ที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 2 โรงคือราชวิถีและนพรัตน์ราชธานี ที่เหลือเป็นของ กทม.ที่มีสำนักอนามัย กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ และเป็นของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ ศิริราช รามา หรือมหิดล ส่วนที่เป็นของทหาร เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฏ โรงพยาบาลภูมิพล เป็นต้น

“ผมอ้างคำสั่งและการแต่งตั้งมาเป็นหลักฐาน เพื่อให้บรรดามัคคุเทศก์ทั้งหลายนำลูกทัวร์ไปลงให้ถูกคน เห็นช่วงนี้ทัวร์ไปลงที่กระทรวงสาธารณสุขบ่อยมาก ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะถูกนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจไปไว้ที่ตัวเอง หรือแต่งตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้กลับไม่กล้าออกมารับผิดชอบกับประชาชน” นายวัฒนากล่าว