“โอภาส” ย้ำ ฉีดวัคซีนสูตรเอสเอ (SA) ให้บุคคลทั่วไป เว้นสูงวัยพื้นที่เสี่ยงคงแอสตร้าฯ 2 เข็ม

อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำ! ฉีดสูตรเอสเอ (SA) บุคคลทั่วไป เว้นสูงวัยพื้นที่เสี่ยงคงแอสตร้าฯ 2 เข็ม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ว่า ภาพรวมแผนการฉีดวัคซีนตามศักยภาพ เราประมาณไว้อย่างน้อยเดือนฉีด 10 ล้านโดส โดยขณะนี้ มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า จะส่งให้จังหวัดต่างๆ และส่งให้กลุ่มเป้าหมายหลักขณะนี้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยช่วงแรกๆ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และฉีดไปค่อนข้างครบถ้วนแล้ว กลุ่มต่อมา คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อและเสียชีวิตสูง จากข้อมูลพบเกิน 70% เป็นกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น การกระจายกลุ่มนี้จะมากที่สุด นอกจากนั้น จะฉีดให้กับพื้นที่ระบาดสุด ตอนนี้คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อไปก็จะเป็นการป้องกันควบคุมโรคและต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น แผนการกระจายวัคซีนแต่ละช่วงเวลาจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาตามสถานการณ์ระบาด

เมื่อถามถึงแผนสำรองกรณีหากแอสตร้าฯ ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนสลับชนิด รวมถึงการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนสำรองจะมีการหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ อย่างที่มีการเจรจาวัคซีนไฟเซอร์ เป็นต้น ส่วนต้องเอาซิโนแวคเข้ามาอีกหรือไม่นั้น ก็เป็นไปตามกรอบ ครม. เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ แต่สถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวค ก็มีประสิทธิภาพ เพราะช่วยลดอาการป่วยหนักจนถึงเสียชีวิต

เมื่อมีการสลับชนิดวัคซีน จะต้องมีการปรับสัดส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯ อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีการสลับวัคซีนโควิด-19 (cross vaccination) วัตถุประสงค์ พบว่าหลายประเทศมีการสลับชนิด ซึ่งสามารถทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างเดลต้าได้ดียิ่งขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการศึกษาของไทยพบว่า หากใช้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม และขึ้นสูงกว่าการติดเชื้อธรรมชาติ และข้อดีอีกอย่าง คือ จากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ และต้องรออีก 2 สัปดาห์กว่าวัคซีนสร้างภูมิฯ เต็มที่ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าผู้ที่รับวัคซีนจะได้มีภูมิฯเต็มที่

“แต่หากสลับเป็นซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ภูมิจะขึ้น แปลว่า จะใช้เวลาเพียง 5-6 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็จะทำให้เรามีภูมิต้านทานต่อเชื้อได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ระยะต่อไปเราจะพยายามให้ใช้สูตรนี้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้คนประเทศไทย ยกเว้นบางกรณี ที่อาจจะต้องใช้สูตรเดิม จากการคำนวณในแต่ละเดือนใช้ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส และแอสตร้าฯ ประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งก็จะสอดคล้องกับที่เราหาได้” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าในกรณีที่มีการปรับสูตรสลับชนิด จะมีข้อยกเว้น โดยจะให้ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม กลุ่มดังกล่าวจะเป็นกลุ่มใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีบางคนที่ไม่พร้อมฉีดแบบสลับวัคซีน นพ.โอภาส กล่าวว่า สูตรเอสเอ (SA) จากข้อมูลที่มีในขณะนี้ มีประโยชน์ในหลายด้าน การสร้างภูมิใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ส่วนการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม จะใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่พบมีการระบาดสูง ตามทฤษฎีระบุว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 1 เข็ม ภูมิฯ จะเพิ่มขึ้นลดการเสียชีวิตได้ จึงเป็นเหตุผลในการฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาด

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ส่งวัคซีนลงไปในกรุงเทพฯ อีก 1 ล้านโดส โดยระบุชัดเจนว่า 5 แสนโดส ให้ฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดให้จองวัคซีนและเร่งฉีดในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนกลุ่มอื่นจะใช้วิธีการสลับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว